เลขาธิการ กพฐ.เตรียมเสนอน ก.ค.ศ.พิจารณาเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึง ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ลดขั้นตอนและมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการใช้เกณฑ์การประเมินรูปแบบเดียวกับครูทั้งประเทศ คือ การประเมิน ว PA (Performance Agreement) คือ การประเมินผลการปฏิบัติงานโดยการทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน ซึ่ง สพฐ. ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย พบว่า ต้องการให้มีการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้หลากหลายมากขึ้น เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงครู มีความต้องการเลือกใช้รูปแบบการประเมินที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุและความถนัด

“สพฐ. ไม่ได้รื้อเกณฑ์ประเมิน ว PA เพราะเป็นเกณฑ์ประเมินที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้มีความหลากหลายตามบริบทของโรงเรียน และบริบทของครูผู้สอน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ไปตั้งคณะทำงานวิเคราะห์เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มครูแต่กลุ่ม เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นของครูส่วนใหญ่พบว่า อยากให้เพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะ เช่น กลุ่มครูที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจำนวนมากอยากได้ ว13 กลับมา หรือกลุ่มที่ไม่เก่งการทำคลิปวิดีโอประกอบการสอนก็อยากได้การประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์แทน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ในฐานะที่ สพฐ. เป็นหน่วยงานกลางได้รับฟังเสียงสะท้อนจากครู วิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะให้แก่ครูในแต่ละบริบท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดภาระครูและเป็นขวัญกำลังใจครูได้อย่างแท้จริง” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว

“ธนุ” ชง ก.ค.ศ.เพิ่มทางเลือกรูปแบบการประเมินวิทยฐานะครู เชื่อช่วยลดภาระครูและเป็นขวัญกำลังใจครูอย่างแท้จริง

ที่มา ; เดลินิวส์ 8 พฤศจิกายน 2566

เกี่ยวข้องกัน

สพฐ.ตั้งทีมรื้อเกณฑ์ขอวิทยฐานะ ชง ก.ค.ศ.ปรับวิธีประเมิน เน้นความถนัด

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ย้ำแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเริ่มจากนโยบายครูคืนถิ่น ซึ่งขณะนี้ สพฐ.เตรียมเสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การย้ายครู เช่น การย้ายภายในโรงเรียนดีมีคุณภาพ 349 โรง อาจจะต้องมีเกณฑ์เฉพาะ การย้ายเพื่อช่วยราชการในโรงเรียนโครงการพิเศษ อาจจะต้องดำเนินการในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึง เรื่องการสอบครูผู้ช่วย อนาคตจะเสนอ ก.ค.ศ.ให้ปรับเป็นการสอบที่อยู่ภายในภูมิภาค หรือจัดสอบภายในจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการโยกย้าย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นภาระให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องดำเนินการเรื่องการย้ายบ่อยมาก ฉะนั้น วิธีแก้ที่ต้นทาง คือจัดสอบภายในจังหวัด หรือภูมิภาค ให้ครูได้ปฏิบัติหน้าที่ในภูลำเนาของตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทาง

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สพฐ.ในฐานะหน่วยงานซึ่งดูแลครูมากที่สุด ยังตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อเสนอ ก.ค.ศ.พิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินวิทยะฐานะให้มีหลายรูปแบบ โดยให้เป็นไปตามความถนัด และสอดคล้องกับความสนใจของครูฯ จากปัจจุบันที่มีการประเมินอยู่เพียงรูปแบบเดียว ต่อไปอาจต้องมีหลายรูปแบบ เพื่อลดภาระของครูฯ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศ ก็อยู่ระหว่างการจัดรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ โดยโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน หรือน้อยกว่า 60 คน อาจมอบอำนาจให้ สพท.ลงไปปฏิบัติหน้าที่แทนโรงเรียนเหล่านี้ เนื่องจากมีกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ เพียงแต่ต้องหารูปแบบที่เหมาะสม เพราะ สพท.หลายเขตฯ ยังไม่มีบุคลากรด้านนี้ ดังนั้น อาจต้องไปดูเจ้าหน้าที่ธุรการในโรงเรียนต่างๆ ที่อาจต้องปรับมาอยู่ สพท.และออกแบบการทำงานใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมผู้อำนวยการ สพท. ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ จ.น่าน

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียน ขอย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องความปลอดภัยอาคาร สถานที่ เพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอน โดยปีนี้ สพฐ.จะมุ่งพัฒนาผู้อำนวยการ สพท.และผู้บริหารสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นผู้นำที่สามารถนำนโยบายไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

Leave a Reply