จันโททัย : เขียน
1 คงหนีไม่พ้นเรื่องที่มีคนกล่าวขวัญกันมา 20 กว่าปีแล้วว่า ทำไมหนอถึงเอาคนที่ไม่รู้จริงเรื่องการศึกษามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาขนาดเมื่อ 50 ปีก่อน เรามีรัฐมนตรีศึกษามาจากมือหนึ่งของผู้บริหาร คือ ท่านภิญโญ สาธร และต่อมาเมื่อ 20 ปีก่อนก็ได้ ท่านวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีศึกษา ยังเอาตัวแทบไม่รอด ต่อมาก็เอาคนในวงการศึกษาแท้จริง คือ ท่านชินวรณ์ บุณยเกียรติ และ ท่านอาคม เฉ่งฉ้วน มาเป็นรัฐมนตรีศึกษา ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ แล้วเอาคนนอกวงการศึกษามาเป็นรัฐมนตรี มันจะไปรอดหรือครับ หรือไปแบบถู ๆ ไถ ๆ
2 แปลกที่การบรรจุแต่งตั้งครูบรรจุใหม่ทำได้ช้าชืดทุกปี ทั้งที่รู้ว่า ห้วงเวลาไหนจะต้องทำอะไร ก็บรรจุแต่งตั้งกันไม่ทันกินเสียที ปล่อยให้โรงเรียนมีตำแหน่งว่าง คือ ว่างทั้งผู้บริหารโรงเรียน ว่างทั้งครูผู้สอน ว่างทั้งนักการภารโรง เป็นอยู่อย่างนี้ทุกปี จะไม่ให้แปลกอย่างไรล่ะครับ
3 สอบบรรจุครูแต่ละปี มีผู้สมัครเป็นแสน แต่สอบได้แค่หมื่นเดียว มันจะไปพอยาไส้ได้อย่างไรล่ะครับพระเดชพระคุณ เพราะข้อสอบออกยากเหลือเกินจนผู้สอบได้มีน้อยก็ไม่สามารถจะบรรจุทดแทนได้ในโรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนจึงขาดครูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันแปลกที่ว่าก็รู้ดีอยู่แล้วแต่ไม่อยากแก้ไขแฮะ
4 เมื่อ 30-40 ปีก่อน การสอบบรรจุครูให้แต่ละจังหวัดดำเนินการสอบเอง ก็เห็นเขาทำกันมาได้ดีไม่มีข่าวทุจริตจิตมิชอบ ก็อาจมีบ้างประปรายเป็นบางจังหวัด แปลกที่สมัยนี้ เอาคนที่ไม่รู้ธรรมชาติของโรงเรียนประถมและมัธยมต่างจังหวัด มานั่งออกข้อสอบ คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยได้สัมผัสโรงเรียนในต่างจังหวัด และ ในชนบทจึงต้องเปิดหนังสือเปิดตำราออกข้อสอบออกกันจนสอบไม่ผ่านรูดมหาราด เพิ่งจะมานึกได้ว่า ควรให้แต่ละจังหวัดออกข้อสอบเอง เข้าตำรา “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้”
5 สิบกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กนักเรียนไม่ถึง 100 คน มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี และโรงเรียนที่มีเด็ก 20-30 คนก็มีมากขึ้นทุกปี มันแปลกประหลาดที่ว่า เบื้องบนก็รู้ว่าเด็กจากต่างหมู่บ้านต่างตำบลต่างอำเภอ หรือ ต่างจังหวัด ต่างมุ่งเข้าไปเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพเยี่ยมในตัวจังหวัดกันหมด ปล่อยให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านแทบจะตายซาก โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบไปก็เยอะ ที่คาราคาซังดีบ้างไม่ดีบ้างก็แยะ แปลกที่ว่าหน่วยเหนือก็รู้ แต่ไม่ยักแก้ไข
6 ด่านทดสอบเด็กมีมากเหลือเกิน คือ การทดสอบเด็กใช้ข้อสอบวัดความรู้เด็กทั้งกึ่งกลางภาค ปลายภาค สอบ NT สอบ o-net จนเด็กเข็ดเขี้ยวขี้เยี่ยวไม่ออกไปตาม ๆ กัน แถมโรงเรียนยังต้องเตรียมการรับการประเมินต่าง ๆ จนแทบไม่มีเวลาสอนเด็ก มีคนพูดแล้วพูดอีกจนปากจะฉีกถึงตูด แต่แปลกที่ไม่มีใครรับฟัง
7 การลงโทษเด็กหรือการทำโทษเด็ก ด้วยวิธีที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์พันธุ์ลึก ก็ยังมีเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ มันแปลกที่ว่า ครูไปคิดวิธีการลงโทษเด็กที่พิจิตรพิสดารอย่างนี้ได้อย่างไร จนเป็นข่าวปรากฏในสื่อมวลชนอยู่บ่อย ๆ
8 แปลกที่มีข่าวสะเทือนใจเพื่อนครูออกมาอยู่เรื่อย ๆ เช่น ข่าวการลงโทษผู้บริหารและครูในกรณีสนามฟุตซอลในหลายจังหวัดภาคอีสาน หรือการสร้างอควาเรียมหรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่สงขลา แปลกที่สุดคือใช้เวลาสอบสวนเกือบ 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ เปลี่ยนเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษาแห่งชาติมาเกือบ 10 คนแล้ว แต่สิ่งก่อสร้างนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ
9 แปลกประหลาดที่สุดที่หน่วยงานในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ คือ สำนักงานสกสค.และองค์การค้าของสกสค. ที่ผ่านมาหลายปีเต็มที ก็ยังไม่มีผู้บริหารที่มีตัวตนอย่างแท้จริงยังคงใช้รักษาการอยู่ชั่วนาตาปี จนสมองด้วยงานดังกล่าวแทบจะป่นปี้หมดแล้วกระมังครับ
10 มีครูบ่นแล้วบ่นอีก พูดแล้วพูดอีก ลาออกแล้วลาออกอีก ว่าเรียมเหลือทนแล้วนั่น อยู่โรงเรียนนึกว่าจะได้สอนเด็ก กลับต้องมานั่งทำเอกสารส่งเบื้องบนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเจ็บระบมริดสีดวงไปหมดแล้วก็ยังต้องทำ ขนาดครูโรงเรียนมัธยมยังปวดร้าวเรื่องการทำเอกสาร แล้วครูประถมศึกษาจะเหลือหรือ
สุดแปลกที่ว่าเสียงบ่นนี้ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษากลับไม่ได้ยิน
วันนี้เอาแค่ 10 ข้อนี้คงจะพอก่อนนะครับเพราะเหลือรับประทานแล้วครับท่าน
“แปลก” ในวงการศึกษา (ภาค 2 )
เรื่องของการศึกษาไทยมีเรื่องคุยได้ทุกวันเพราะมีปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์เกิดขึ้นอยู่เสมอ หนังเรื่องเล่าที่จะพูดคุยต่อจากตอนก่อน นะครับ
11 กระทรวงอื่นๆเขาจะมีระดับ 11 อยู่คนเดียวคือปลัดกระทรวงแต่กระทรวงศึกษามีระดับ 11 อยู่ถึง 4 คนคือ
เลขาธิการสพฐ.
เลขาธิการสภาการศึกษา
เลขาธิการอาชีวศึกษา
ปลัดกระทรวงศึกษา
นี่คือความแปลกแตกต่างของกระทรวงศึกษากับกระทรวงอื่น
12 การศึกษามีการปฏิรูปมาจนนับกันไม่หวาดไม่ไหวว่ากี่ครั้งแล้วแต่ไม่เกิดมรรคผลอะไร มีคำกลอนบอกว่า
ปฏิรูปการศึกษามา 8 หน
ได้แต่คนเป็นกรรมการด้านต่างๆ
มีโครงการแผนงานดีมีแนวทาง
เสร็จแล้ววางไว้เฉยเลยละกัน
มันเป็นอย่างนี้แหละครับท่านสารวัตร
13 ปฏิรูปการศึกษาได้ประโยชน์อย่างเดียวก็คือมีตำแหน่งหรือมีหน่วยงานใหม่เพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ
มีศึกษาธิการภาค ระดับ 10 อีกเป็น 10 คน
มีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้น คือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทุกจังหวัด
มีสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดใน ทุกจังหวัด
ยุบกศน.หรือโรงเรียนนอกการศึกษา เฮ้ย..ไม่ใช่ แต่เป็นการศึกษานอกโรงเรียน เปลี่ยนมาเป็น กรม ชื่อ กรมการส่งเสริมการเรียนรู้
15 เมื่อ 50 ปีก่อนมีโรงเรียนอนุบาลอยู่โรงเดียว คือ โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ผู้ปกครองนิยมและศรัทธา เพราะมีความพร้อมมากที่สุดในการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาจึงเปลี่ยนใหม่ ให้ทุกอำเภอมีโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ โดยเปลี่ยนชื่อโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนชั้นอนุบาลได้ดีที่สุดในอำเภอนั้น ให้มาเป็นโรงเรียนอนุบาลต่อด้วยชื่ออำเภอ ชื่อโรงเรียนเดิมก็หายสาบสูญไป
16 โรงเรียนที่มีชื่อเสียงคนนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งพวกเรารู้จักกันดี เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ สตรีวิทยา บดินทรเดชา เป็นต้น นำไปเปลี่ยนชื่อโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัด ให้เป็นชื่อเดียวกับโรงเรียนดังกล่าวข้างต้น
ในเมืองกาญของเราก็มี เช่นกันคือ โรงเรียนเทพศิรินทร์ลาดหญ้า เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนลาดหญ้าพิทยาคม ทั้งที่ชาวบ้านบางส่วนไม่ค่อยพอใจ เพราะละทิ้งความเป็นชื่อดังเดิมของท้องถิ่นแต่ก็ต้องจำยอม
17 บริเวณหน้าโรงเรียนตามรั้วโรงเรียน หรือ ประตูทางเข้าโรงเรียน จะมีป้ายประกาศบอกถึงความสามารถความดีเด่นของโรงเรียนที่ชนะการประกวดมาเต็มหน้าโรงเรียนไปหมด
รวมแล้วแต่เป็นรางวัลที่อาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นหลายปีติดต่อกัน ไม่อยากมีป้ายประกาศให้คนรู้ หรือ มีครูดีเด่นระดับชาติ ที่น่าประกาศให้คนรู้กลับไม่มี มีก็เป็นชื่อและรูปของผู้บริหารโรงเรียนไปเสียนี่
18 การสอบแข่งขันเพื่อเอาคนขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน น่าแปลกใจที่วัดแต่คะแนนจากข้อสอบอย่างเดียว ไม่ดูอย่างอื่นประกอบบ้าง ทำให้พวกเราเรียนรู้ว่าหลายคนหลายครั้งเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่อยู่ในค่ายนี้
คือ “ขี้เหล้า เจ้าชู้ อยู่แต่บ่อน ร่อนแต่สนามพระ” นี่เป็นการเรียนรู้จากข่าวของสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ ครับ
19 วงการครูเราประกอบไปด้วยชมรม สมาคม สมาพันธ์ ศูนย์ต่าง ๆ หรือเรียกชื่ออย่างอื่นทั่วประเทศน่าจะมีจำนวนถึง 200 ชมรม หรือสมาคม เห็นจะได้
มันถึงรวมกันไม่ติด บางกลุ่มบางชมรม บางสมาคม ก็ดันมาทะเลาะบอกแว้งกันเสียอีก วงการครูจึงไม่ค่อยมีความสามัคคีเท่าที่ควร ถ้ารวมกันได้ยอดเยี่ยมสุริโยครับ
20 คนในวงการที่เรียกว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ที่สอนอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา ในทุกสังกัดรวมกันแล้ว น่าจะมีหลายล้านคน รวมทั้งครูบำนาญด้วย
ซึ่งความจริง น่าจะมีสส.ทั่วประเทศอย่างน้อย 10 คน แต่เนื่องจากรวมกันไม่ติดความรักใคร่สามัคคียังต่ำอยู่ จึงพลาดผิดหวังจากการเป็นสส.
ทั้งที่มีพรรคการเมืองของครูคือพรรค “ครูไทยเพื่อประชาชน” ที่มีท่านปรีดา บุญเพลิง อดีตเลขาธิการคุรุสภา เป็นหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 2 คือ การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และ 2566 ที่เพิ่งผ่านไป
จึงไม่แปลกที่เวลาเสนอกฎหมายการศึกษาเข้าสภา จึงล้มเหลวอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีส.ส.ที่มาจากครูน้อยเกินไป ทำให้ผมนึกถึงท่านอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวหน้า เมื่อ 40 ปีก่อน เคยให้คำแนะนำแก่เพื่อนครูไว้ว่า
“ถ้าอยากให้การศึกษาเจริญก้าวหน้ากว่านี้ หรือ อยากให้กฎหมายการศึกษาเป็นความจริง และ รวดเร็ว บรรดาครูทั้งหลายต้องช่วยกันเลือกครูเข้ามาเป็น ส.ส. ในสภา”
มิเช่นนั้นการศึกษา ก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างเขาอยู่ร่ำไป ก็จริงดังที่ ท่านอุทัย พิมพ์ใจชน เสนอแนะมา นะครับ
หากนึกเรื่องแปลกในวงการศึกษาได้อีกจะนำมาเสนอต่อไป ส่วนวันนี้ขออนุญาตเพียงเท่านี้ก่อนนะครับต้องไปซื้อกับข้าวให้คนในครอบครัวก่อนครับ ขอบคุณมากครับ
ที่มา ; edunewssiam 16 October 2023