สมศ.ชวนสถานศึกษาร่วมโครงการยกระดับคุณภาพด้วย “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้”

วันที่ 18 ส.ค.66 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี และรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งจากการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมา พบว่าภายหลังจากที่สถานศึกษาได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. แล้ว สถานศึกษาบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของตนเองแบบทันทีทันใดและต่อเนื่อง ทำให้ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกไม่เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเท่าที่ควร

สมศ. จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยดำเนินการร่วมกันภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ระหว่าง สมศ. ภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.”ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา” ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ด้วยการนำประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษามาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำเป็นแผนพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาว ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่สถานศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาจัดทำกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจรควบคุมคุณภาพ (PDCA)

ดร.นันทา กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 มีสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนรวม 133 แห่ง โดยพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญ เข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรพัฒนาเพื่อวางแผนการยกระดับคุณภาพให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาในแต่ละแห่ง 

“จากความสำเร็จดังกล่าว สมศ. และสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 27 แห่ง ในนาม“ศูนย์ประสานงาน สมศ.” จึงได้วางแผนขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 – พ.ศ.2568 เพิ่มเติมอีกจำนวน 150 แห่ง ทั้งนี้ สมศ. ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนสถานศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ได้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-216-3955 ต่อ 152” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์   18 สิงหาคม 2566

เกี่ยวข้องกัน

‘สมศ.’ ขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษา ดันประเมินผลแล้วต้องใช้จริง

นับจากปี 2542 จนถึงวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงฝั่งฝันของการปฎิรูปการศึกษา แม้จะมีความพยายามผลักดันหลายรูปแบบ โดยการขับเคลื่อนที่สำคัญก็คือ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฎิรูปการศึกษา แต่เอาเข้าจริง  แม้จะผ่านไปหลายปี  แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามผลการศึกษาแต่อย่างใด ขณะที่ โครงสร้างเดิมของการปฎิรูปการศึกษาเมื่อ 20 ปีก่อน มีการสร้างหน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่เห็นได้ก็คือ สำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)

โดย สทศ.พุ่งเป้าไปที่การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ที่ประเมินผ่านการจัดสอบโอเน็ต ตามช่วงชั้น ส่วนสมศ.ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพตัวสถาบันการศึกษา ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียน  เนื่องจากในความไม่เท่ากันในคุณภาพของตัวเด็กนักเรียน  ปัจจัยหลักๆ มาจากบทบาทการหล่อหลอมของสถานศึกษา หรือโรงเรียนทั้งหลาย  ขณะที่ ประเทศไทยมีโรงเรียนร่วม 6หมื่นโรง  แน่นอนว่าโรงเรียนเหล่านี้ มีคุณภาพไม่เท่ากัน  ปัญหาคือทำอย่างไร ถึงจะทำให้คุณภาพของโรงเรียนเหล่านี้ ไม่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว หรือทำให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันมากที่สุด  ซึ่งการประเมินสถานศึกษาจะเป็นกระจกสะท้อน นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาสถานศึกษา ให้มีคุณภาพดีขึ้น  แต่ในความเป็นจริง ยังมีสถานศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้นำผลการประเมิน พร้อมข้อชี้แนะ ไปพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง

ทำให้หลังจากประเมินคุณภาพสถาบันการศึกษารอบล่าสุด ที่เป็นการประเมินภายนอก  สมศ. ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.”ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ให้กับสถานศึกษาจำนวน 133 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 โดยการนำประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษามาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำเป็นแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในระยะสั้นและระยะยาว   พร้อมเปิดรับสมัครสถานศึกษาจำนวน 150 แห่งที่สนใจเข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า  สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี และรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งจากการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมา พบว่าภายหลังจากที่สถานศึกษาได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.  สถานศึกษาบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของตนเองแบบทันทีทันใดและต่อเนื่อง ทำเป็นช่วงๆเท่านั้น เมื่อไหร่ที่สมศ.จะประเมิน ก็จะพัฒนาเมื่อนั้น ทำให้มองว่า ยังมองไม่เห็นการพัฒนาที่ชัดเจนของสถานศึกษา  ซึ่งจริงๆแล้วอำนาจหน้าที่นำผลประเมินไปใช้ ไม่ใช่ของสมศ.โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของทางต้นสังกัดของทางสถานศึกษานั้นๆ เพราะหลังจาก สมศ.ประเมินแล้ว จะนำส่งรายงานผล และข้อเสนอแนะให้สถานศึกษา และต้นสังกัด

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สมศ.ได้หารือกับทุกต้นสังกัดสถานศึกษา  เพื่อหาทางให้สถานศึกษานำผลประเมินไปใช้ปรับปรุงพัฒนา ซึ่งจากจุดนี้ เป็นที่มาของการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย   โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยสมศ.ได้ร่วมมือกับต้นสังกัดทุกฝ่าย เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2564 เฟสแรกประชุมร่วมกันเพื่อดีไซน์ วิธีการพัฒนา และทดลองใช้กับสถานศึกษา 12 แห่ง  หลังจากนั้นได้มองหาจุดอ่อน ก่อนปรับปรุงแก้ไข วิธีการก่อนมากลายมาเป็นเฟสสอง ทดลองใช้กับสถานศึกษา 2 แห่ง  และขยายโครงการมาเป็นเฟส 3 โดยนำสถานศึกษาที่มีผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี 119 แห่ง มาพัฒนา ปัจจุบัน อยู่ในเฟสที่สี่ เปิดรับสถานศึกษา 150 แห่ง เข้าร่วมโครงการ โดยเป็นสถานศึกษา 2 รูปแบบ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี  และอีกส่วนเป็นสถานศึกษาที่มีผลการประเมินระดับดีขึ้นไป แต่มีความต้องการที่จะพัฒนาให้โดดเด่นดียิ่งๆขึ้นไปอีก ให้มาเข้าโครงการ

ดร.นันทา กล่าวว่า ในเฟสที่สี่นี้  อยู่ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ระหว่าง สมศ. ภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.”ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง  และเรายังมีอีกทีมผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคส่วนกระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศกว่า  700 ท่าน โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆถ้าสนใจผู้เชี่ยวชาญด้านใด ท่านก็สามารถไปช้อปปิ้งเลือกได้ตามใจชอบ ตรงตามบริบทของท่าน พอเลือกแล้ว ทั้ง 2ทีมคือจากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญก็จะไปทำงานร่วมกัน ช่วยกันวิเคราะห์ และนำไปสู่การทำแผนพัฒนากับสถานศึกษานั้นๆ

รักษาการ ผอ.สมศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สมศ.ยังได้ปรับปรุงการประเมิน โดยมีตัวบ่งชี้ใหม่ ๆโดยเกณฑ์ใหม่นี้จะนำมาใช้ในการประเมินปี 2567 สถานศึกษาที่เข้าร่วม โครงการพัฒนา จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ ทั้งทีมมหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาจะต้องเหลือบมองเกณฑ์ประเมินใหม่ ทำให้การปรับปรุงพัฒนาที่จะดำเนินการ จะอิงกับหลักการประเมินใหม่ไปในตัว

“ผลการเข้าร่วมโครงการ  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 มีสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนรวม 133 แห่ง โดยพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญ เข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรพัฒนาเพื่อวางแผนการยกระดับคุณภาพให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาในแต่ละแห่ง”ดร.นันทากล่าว

สถานศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ได้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-216-3955 ต่อ 152

ที่มา ; ไทยโพสต์ 23 สิงหาคม 2566

ข่าวเกี่ยวกัน

“สมศ.” เปิดผลความสำเร็จ “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก”

สมศ. เปิดผลความสำเร็จการขับเคลื่อน “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก” พบสถานศึกษาพึงพอใจการทำงานของผู้ประเมินภายนอกกว่าร้อยละ 95 พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอก ภายใต้ 3 บทบาทหน้าที่หลัก “ประเมินแม่นยำ – ก้าวทันเทคโนโลยี – ไม่สร้างภาระสถานศึกษา” เพื่อพัฒนาให้ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. เป็น Best Quality Consultant รับการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สมศ. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้ประเมินภายนอกทุกประเภท และทุกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อยกระดับไปสู่ “ผู้ประเมินมืออาชีพ” เป็นที่ยอมรับและพึงพอใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัด เพราะผู้ประเมินภายนอกมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้แทนของ สมศ. ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและสะท้อนผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากสถานศึกษา

ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอก จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้พันธกิจหลักของ สมศ. ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเพื่อให้การพัฒนาผู้ประเมินภายนอกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมศ. จึงมี “โครงการการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก (QC100)” ซึ่งได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดย “QC” มาจาก “Quality Control” และ “100” หมายถึง ผู้ประเมินทุกคน ทุกระดับการศึกษา โดยให้สถานศึกษาซึ่งเป็นผู้รับบริการโดยตรงของ สมศ.ตอบแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. (AQA) เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก และนำผลจากการติดตามมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้ประเมินภายนอกต่อไป

สำหรับผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกจากสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษามีความพึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1) สถานศึกษาพอใจในด้านทักษะ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 95 ประกอบด้วย

1) ทักษะการเขียนรายงานการประกันคุณภาพภายนอก

2) ทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีเหตุมีผล และ

3) ทักษะการรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกจากข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)

2) สถานศึกษาพอใจในด้านคุณลักษณะ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 94 ด้านการประสานงานและการสื่อสารระหว่างสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอก (เพื่อการจัดส่งเล่มรายงานการประกันคุณภาพภายนอก และผลการประเมิน SAR) มีความเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ

3) สถานศึกษาพอใจในด้านความรู้ความสามารถ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 94 สถานศึกษามองว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ตามแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment) หรือ EQA และสามารถเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา (Internal Quality Assurance) หรือ IQA หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาจากภายใน ตามวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นการปฏิบัติโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษาหรือโดยหน่วยงานต้นสังกัด ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษานั้นๆ และมองว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ความเข้าใจในบริบทของสถานศึกษา จากการศึกษาข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)

ทั้งนี้ สมศ. ขอเชิญชวนให้สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เรียบร้อยแล้ว เข้ามาประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก เพื่อที่ สมศ. จะได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อการพัฒนาหรือส่งเสริมผู้ประเมินภายนอกให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทการทำงานของสถานศึกษามากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกสะท้อนผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. ยังคงเดินหน้าแผนยกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยพัฒนาหลักสูตรและอบรมผู้ประเมินภายนอกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับผู้ประเมินภายนอกเป็น Best Quality Consultant ให้กับสถานศึกษาใน 3 บทบาทหน้าที่หลัก ได้แก่

  • ด้านวิชาการ ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน สามารถทำการประเมินและสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาด้วยความถูกต้อง สอดคล้องตามบริบท      มีความแม่นยำ ตรงไปตรงมา เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่ สมศ. กำหนด และสามารถให้ข้อเสนอแนะเป็นรายสถานศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการประเมิน โดยข้อเสนอแนะที่ให้กับสถานศึกษาต้องนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษาจึงจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อสถานศึกษาได้จริง
  • ด้านเทคโนโลยี ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความสามารถและทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ดี เป็นการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และสอดรับกับนโยบายของ สมศ. ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Organization) ทั้งนี้ สมศ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประเมินในทุกขั้นตอน เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (AQA) ระบบจัดเก็บรายงานประเมินตนเอง (e-SAR) การพัฒนาระบบ Mobile Application (ONESQA-V) สำหรับผู้ประเมินภายนอกในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแบบ Onsite สถานศึกษาทุกระดับ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการประเมิน และนับได้ว่ามีความทันสมัยเท่าเทียมกับระบบการประเมินสถานศึกษาของนานาประเทศ
  • ผู้ประเมินภายนอกสะท้อนภาพลักษณ์ของ สมศ. ในระหว่างการปฏิบัติงาน ด้วยการทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาอย่างถูกต้องตรงประเด็น ภายใต้ “ความเป็นกัลยาณมิตร” และ “ไม่สร้างภาระกับสถานศึกษา” ซึ่งการดำเนินงานของ สมศ. ที่ผ่านมาให้ความสำคัญเรื่องคุณลักษณะและบทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินภายนอก โดยผู้ประเมินภายนอกถือเป็นตัวแทนของ สมศ. ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอกไม่เพียงแต่จะต้องมีองค์ความรู้ตามที่ สมศ.กำหนด แต่ยังต้องก้าวทันเทคโนโลยี  ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อการประเมินที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ของประเทศต่อไป

ที่มา ; ไทยโพสต์  13 สิงหาคม 2566

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: