สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.ประชุมเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาจำนวน 42 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่องตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมสถานศึกษาและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษา”
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ.ได้จัดประชุมภายใต้โครงการ “ส่งเสริมสถานศึกษาและประสาน ความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษา” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่องทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ สถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 5 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 18 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตและอำเภอและสถานศึกษาขึ้นตรงจำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง
การประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงให้สถานศึกษา ทั้ง 42 แห่ง ได้ทราบ กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา ตามที่ คณะกรรมการ สมศ. ได้ประกาศ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 รวมทั้งได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก่อนเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก
อย่างไรก็ตาม สมศ. ยังคงเน้นจุดเน้นโดยให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนาการยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) โดยกำหนดรูปแบบและวิธีการตรวจเยี่ยม (Virtual visit / Onsite visit / Hybrid) ที่เหมาะสม จำนวนวันประเมิน (1-3 วัน) ระยะเวลาจะแตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษาแต่ละประเภท
“โดยหลังจากที่ สมศ.ได้ทำการประเมินนำร่องแล้วจะสรุปผลรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมด และเชิญผู้ประเมินภายนอก สมศ. มาประชุมร่วมกัน เพื่อให้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกได้รับการพัฒนาจนมีความเหมาะสม เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้ในการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และ กศน. ได้ในปีถัดไป” ดร.นันทา กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการบรรยายหัวข้อ ดังนี้
1) “แนวคิดและทิศทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา” โดย ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.
2) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดย ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.
3) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” โดย นายสุรพงษ์ จำจด ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ ดร.รุ่งอรุณ ไสยโสภณ อนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ
4) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ด้านการอาชีวศึกษา” โดย นายวณิชย์ อ่วมศรี รักษาการประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพด้านการอาชีวศึกษา และ ดร.ชมพูนุช บัวบังศร คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพด้านการอาชีวศึกษา
ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2566
เกี่ยวข้องกัน
สมศ.เดินหน้ายกระดับผู้ประเมินภายนอก เสริมทักษะ จริยธรรม สร้างความเป็นมิตรสถานศึกษา
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แถลงข่าวเปิดผลสำเร็จโครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก ที่ห้องประชุมสันถวมิตร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 24
ดร.นันทา กล่าวถึงที่มาของโครงการ ว่า เนื่องจากมีสถานศึกษาทั่วประเทศกว่า 60,000 แห่ง สมศ.จึงต้องอาศัยผูประเมินจากภายนอกมาช่วยประเมิน โดยกำหนดนโยบายและพัฒนาผู้ประเมินอยู่เสมอ ภายใต้คุณธรรม จริยธรรมไม่ใช้ความสนิทสนมกับสถานศึกษาในการประเมิน และต้องพัฒนาผู้ประเมินให้สถานศึกษาและสังคมยอมรับ เพราะมีผลต่อความเชื่อถือของสถานศึกษาและตัวผู้ประเมินเอง ทั้งนี้ กำหนดให้จัดตั้งหน่วยกำกับดูแลเพื่อประเมินการทำหน้าที่ของผู้ประเมินควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ของ สมศ. โดยการประเมินผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบไม่เปิดเผย และนำผลที่ได้มาพัฒนาปรับปรุงผู้ประเมินต่อไป
จากการทำหน้าที่ประเมินของผู้ประเมินภายนอกที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจจากสถานศึกษาต่าง ๆ โดยร้อยละ 94 พอใจด้านความรู้ความสามารถของผู้ประเมินภายนอก ร้อยละ 95 พอใจด้านทักษะผู้ประเมินภายนอก และร้อยละ 94 พอใจด้านความรู้ความสามารถของผู้ประเมินภายนอก
ดร.นันทา กล่าวว่า จากนี้ไปมีแผนยกระดับผู้ประเมินภายนอกมากขึ้น ประกอบด้วย
- พัฒนาด้านวิชาการ เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยไม่ชี้ถูกหรือผิด
- ผู้ประเมินต้องให้ข้อชี้แนะที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เนื่องจากขนาดและศักยภาพของแต่ละสถานศึกษาไม่เท่ากัน
- เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีแก่ผู้ประเมิน เนื่องจากผู้ประเมินภายนอกกว่า 4,000 คน มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี จึงต้องเสริมสร้างความรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากการประเมินใช้ระบบคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นเป็นหลัก ไม่ได้ใช้กระดาษเอกสาร
- ผู้ประเมินต้องรักษาภาพลักษณ์ มีความเป็นมิตรต่อสถานศึกษา และต้องผ่านการประเมินเป็นระยะ เพื่อพัฒนาตนเอง โดยการจัดลำดับเกรดและการทดสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 5.ผู้ประเมินต้องลดภาระสถานศึกษา ไม่เรียกร้องเกินความจำเป็น เน้นประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเป็นหลัก
สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประเมินภายนอก ประกอบด้วย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี วุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการศึกษา แต่ต้องผ่านการทดสอบผ่านระบบเทคโนโลยีที่ สมศ.กำหนด ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ใบรับรอง 3 ปี และจะต้องมีการต่ออายุใบรับรองผ่านการประเมินทุกครั้ง
“แต่ละสถานศึกษาใช้ผู้ประเมินภายนอกไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ใช้แห่งละ 2 คน ถ้าเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ใช้ 3-4 คน มหาวิทยาลัยใช้ 5 คน หากผู้ประเมินปฏิบัติตามนโยบายต่าง ๆ ที่ สมศ.กำหนด และพัฒนาตนเองตามแบบแผนเชื่อว่าสามารถส่งเสริมคุณภาพและยกระดับสถานศึกษาได้แน่นอน” ดร.นันทา กล่าว
ที่มา ; สยามรัฐออนไลน์ 10 สิงหาคม 2566