ยกเครื่องการศึกษาไทย ต้องมองให้ครบทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง (ทัศนะ ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์)

“ทรัพยากรมนุษย์” เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะที่“การศึกษา” ก็เป็นปัจจัยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล  สังคมสูงวัยที่อัตราการเกิดน้อยลงแต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อกำลังแรงงาน ไปจนถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ชาติชายพุคยาภรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชน และท่านได้ให้มุมมองน่าสนใจไว้หลายประการ

ถาม ; ในฐานะที่ท่านอยู่ในแวดวงการศึกษามาทั้งชีวิต ตั้งแต่การเป็นทายาทของ ดร.สุขพุคยาภรณ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม กระทั่งในเวลาต่อมา ท่านมีโอกาสได้บริหารสถาบันการศึกษาในเครือหลายแห่ง มองแนวทางการจัดการศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบันในภาพรวมอย่างไร?

ตอบ : ผมชอบคำถามนี้นะ เพราะมีหลายคนบอกว่าการศึกษาสมัยก่อนไม่ดี ล้มเหลวจนถึงปัจจุบัน อันนี้โดยส่วนตัว ถ้าพูดเช่นนั้นแปลว่าเรากำลังด่าตัวเราเอง เพราะเรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ในวันนี้ได้ก็เพราะการศึกษาในอดีต ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าการศึกษาที่เป็นมาตลอดระยะเวลา ผมถือว่าเป็นพัฒนาการของการศึกษาตามห้วงเวลานั้น การศึกษาวันนี้หลายคนหลายมุมมอง ก็ต้องบอกว่าเริ่มอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น (ในมุมเขานะ) แต่ผมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ตรงกับสภาพความเป็นไปของโลกและของมนุษย์ หรือว่าการเติบโตของคนในยุคปัจจุบันนี้

ถาม ; หลายปีที่ผ่านมา คำว่า “การศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21” ถูกพูดถึงกันมาก ท่านมีมุมมองกับคำคำนี้อย่างไร?

ตอบ : ประเด็นแรกก่อน “การศึกษาคือรากแก้วของการพัฒนาคนเพื่อไปพัฒนาชาติ” ดังนั้นการจะทำให้การศึกษาแข็งแกร่งเราจะต้องมองอะไรบ้าง? อะไรเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นในมุมมองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แน่นอนเรายังจำเป็นต้องให้การศึกษาคือรากเหง้าของประเทศที่จะต้องเติบโตขึ้น หรือว่าเป็นรากแก้วที่เราจะต้องสร้างให้มันเข้มแข็งมากขึ้น

ผมก็จะมองว่าในศตวรรษที่ 21 นี่อะไรที่จำเป็นจะต้องคงอยู่ อะไรที่จะต้องเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แน่นอนสิ่งที่ประเทศชาติเกิดขึ้นในขณะนี้ต้องบอกว่าคือขนบธรรมเนียมประเพณี หรือประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมา มันเป็นรากแก้วที่เราจำเป็นจะต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ต้องไปทำลายหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่เลย เพราะเป็นโชคดีของคนไทยที่เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นมรดกที่เราจะต้องรักษาไว้

ผมก็มานึกหลายอย่าง สมัยก่อนเราเคยเรียนสุภาษิต-คำพังเพย สิ่งเหล่านี้มันเป็นการเตือนใจ-สอนใจ เพราะการพัฒนาการศึกษาไม่ใช่พัฒนาเฉพาะความรู้ ไม่ใช่ต้องไปรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด อันนั้นแน่นอนเราจำเป็นต้องมี แต่สิ่งที่เราจะต้องคงอยู่คือเรื่องของจิตใจและสภาพต่างๆที่เราจะต้องให้ดำรงคงอยู่ไว้ เรียกว่าไม่ใช่พัฒนาแต่ความรู้ แต่จิตใจและสิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องมีไว้ นั่นคือเราจะต้องสร้างและเสริมต่อไว้

ถาม ; ก็แสดงว่ารากเหง้าที่เรามีอยู่เดิมกับชุดคุณค่าในยุคสมัยใหม่เอาจริงๆ มันไม่มีอะไรขัดกัน? หรือมีอะไรจะต้องปรับบ้าง?

ตอบ : ไม่ได้ขัดกัน เพียงแต่เราให้ความสำคัญแค่ไหน เพราะในมุมมองผมวันนี้เรายืนอยู่กันได้เพราะสิ่งเหล่านี้ที่เป็นรากแก้วของเรา วัฒนธรรม ประเพณี วิธีคิดอะไรหลายอย่างที่เราฟูมฟักกันมา แล้วก็สร้างให้เยาวชนแข็งแรงขึ้น แต่ส่วนเทคโนโลยีก็ส่วนเทคโนโลยี คุณจะพัฒนาอย่างไร เพิ่มเติมอย่างไรว่าไปเลย

แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กจะเติบโตได้ไม่เฉพาะสติปัญญา คงจะต้องเกี่ยวกับนิสัยใจคอ จิตใจ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบให้คนนั้นเติมเต็ม เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แน่นอนเด็กก็อยากออกนอกกรอบบ้าง แต่บางทีเราต้องสอน ต้องแนะนำให้คำปรึกษาว่าสิ่งใดดีงาม ซึ่งคนที่สอนได้ดีที่สุดคือพ่อแม่ แต่ปัญหาคือ “ทุกวันนี้สถาบันครอบครัวมีอุปสรรค ทำให้พ่อแม่ดูแลลูกได้น้อยลงด้วยเหตุผลสภาพทางเศรษฐกิจ” ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สุดท้ายหลายคนก็ต้องเอาลูกไปฝากไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้สถาบันครอบครัวนั้นมั่นคง

ถาม ; นอกจากพ่อแม่แล้ว ครูก็มีสถานะเหมือนเป็นพ่อแม่คนที่ 2 ที่ผู้ปกครองไว้วางใจเอาลูกไปฝากฝังให้ช่วยดูแล ท่านมองความเป็นไป(หรือความเปลี่ยนแปลง) ของอาชีพครูทุกวันนี้อย่างไร

ตอบ : ต้องถามว่าอะไรทำให้สภาวะวันนี้เปลี่ยนแปลงไป? นั่นคือสภาพเศรษฐกิจที่เราทำให้เขาต้องดิ้นรน พอครูดิ้นรนก็ต้องพยายามหามาดูแลครอบครัวตัวเอง ดังนั้นผมถึงอยากจะบอกว่า วันนี้จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญมาก เราจะวางระบบการศึกษาจริงๆ อย่างไร?

มองในภาพรวมก่อน ประชาชนในวันนี้ถ้าสถิติประชากร 66 ล้านคน โดยประมาณ สถิติของเด็กที่อยู่ในวัยเรียนไปจนถึงอายุ 20 ปี ท่านดูตัวเลขประมาณเท่าไร? วันนี้เกิดปีละ 6-8แสนคน ผมว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นเรามีการวางแผนสนับสนุนส่งเสริมองค์ประกอบตรงนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นตัวนักเรียน ครูและผู้ปกครอง 3 ส่วนนี้จะเป็นองค์ประกอบที่รัฐต้องให้ความสำคัญ

“อยากให้มองว่าการศึกษาทั้งหมดของเราจะไปทิศทางไหน? เพราะต้องล้อไปตามที่เราวางแผน จะเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปี จะเป็นอนาคต 10 ปีข้างหน้า เริ่มต้นที่การวางแผนจำนวนประชากรก่อน ลองมองอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? ดังนั้นถ้าเราสนับสนุนส่งเสริมให้การเกิดของประชากรได้มีความชัดเจน เพราะวันนี้หลายคนเริ่มจะไม่มีลูก อยากจะเป็นโสด ด้วยเหตุผลเพราะภาวะเศรษฐกิจ ไม่สามารถที่จะส่งเสริมให้เขาเติบใหญ่ได้อย่างสบายใจ

นี่คือนโยบายของชาติที่ต้องเข้ามาเห็นว่าควรส่งเสริมอย่างไรให้ประชาชนที่อยู่ในวัยที่มีบุตรมั่นใจได้ว่าลูกเขาได้เรียนโดยไม่เดือดร้อนมาก จะมีลูกคนหนึ่งกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ได้ ไหนจะภาวะเศรษฐกิจ ภาวะจิตใจที่เขาจะเปลี่ยนไปตรงนี้ต้องเริ่มให้ความสนใจว่าเราจะมองเยาวชนจากเกิดจนถึงอายุ 20 ปี เราส่งเสริมเขาอย่างไร? ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะเด็กเฉพาะครู อาจจะต้องส่งเสริมไปยังผู้ปกครองด้วยว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไร?”

ถาม ; ในยุคนี้ที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้า มีการพูดกันว่าการเรียนเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยอาจไม่มีความจำเป็นอีกแล้วมีมุมมองต่อแนวคิดนี้อย่างไร?

ตอบ : การศึกษามีทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย วันนี้เราต้องถามว่านิสัยใจคอของเด็กเรายังอยู่ในคาแร็กเตอร์แบบใด แบบเรียนรู้ตนเอง (Self-Learning) ไหม? หรือต้องบังคับเรียน? มันมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นทุกระบบยังมีความสำคัญอยู่เพราะมันเป็นทางเลือกของเด็ก

การเรียนในระบบไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนก็ยังมีความจำเป็น เด็กสามารถไปเลือกเรียนแบบนั้นได้ หรือคนที่ไม่พร้อมด้วยหลายๆ อย่างเขาก็อาจจะเลือกเรียนแบบอัธยาศัย ดังนั้นในมุมมองผมยังจำเป็นทุกด้าน เป็นทางเลือกให้เด็ก แต่พอเป็นทางเลือกให้เขา ในวัยเรียนของเขาเราส่งเสริมอย่างไร? ไม่ใช่เฉพาะเด็กแต่เป็นผู้ปกครองด้วย ทำอย่างไรให้เขาสบายใจเมื่อลูกมาเรียน สบายใจทั้งกระเป๋าเงิน ทั้งมีความสุขกับการเรียน ทั้งความปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียนหรือในระบบต่างๆ เราต้องให้สิ่งเหล่านี้กับเขา

ถาม ; คำถามก่อนท่านพูดถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี ถึงตรงนี้คงต้องถามต่อว่า บทบาทกลไกรัฐ (ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ตาม) ควรจะเป็นอย่างไรในการพัฒนาการศึกษาไทย?

ตอบ : บางคนก็มีความเห็นหลากหลายกับยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ผมถือว่าเป็นเส้นทางที่จะไปถึงตรงนั้น แต่ระหว่างทางเราจะไปเติมอย่างไรเราใส่เข้าไปได้ อย่างที่ผมบอกว่าการศึกษาคือรากแก้ว แล้ววันนี้เราให้ความสำคัญแค่ไหน? องค์ประกอบมีอะไร? เด็ก ครูผู้ปกครอง หลักสูตร

 

เราส่งเสริมเต็มที่ไหม? ถ้าไม่ส่งเสริมรากแก้วเราก็ไม่แข็งแรงพอ ต้องถามว่าเราให้ความสำคัญจริงๆ ไหม? ผมถามจริงๆ ทุกวันนี้ครูเดือดร้อนไหม? ไม่พอจ่ายแน่นอนต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่ถามว่าทำอย่างไร? เงินเดือนทุกวันนี้เท่าไร? หมื่นห้าขั้นต่ำบอกต่อไปจะสองหมื่นสี่ พูดกันตรงๆ เท่าไรก็แล้วแต่ถ้าไม่คุมรายจ่าย ไม่คุมปัจจัยการผลิต ปัจจัยความเป็นอยู่ของเขา มีเท่าไรก็ไม่พอ

ผู้ประกอบการเขาก็จะบอกว่าคุณไม่คุมปัจจัยการผลิตเขา สิ่งเหล่านี้เรียกว่าลูกโซ่ ถามว่าเงินเดือนไปสินค้าไปไหม? นั่นคือคำตอบ แต่ถ้าคุณคุมปัจจัยหลักของความเป็นอยู่ของเขาได้ ราคาบางอย่างให้อยู่ในวิสัยที่ความเป็นอยู่ของประชาชนไม่เดือดร้อน เขาจะมีช่องว่าง (Gap) ส่วนต่างของค่าใช้จ่ายกับรายรับของเขา ฉะนั้นเขาก็มีความสุขแล้ว แต่วันนี้ช่องว่างส่วนต่างมันตรงกันข้าม (Reverse) ค่าใช้จ่ายมันมากกว่ารายรับ มันก็ไม่มีความสุข

ถาม ; การศึกษาในอนาคตอยากเห็นอะไร?

ตอบ : กลับไปดูรากฐานของมันที่ว่าโครงสร้างหลักสูตรควรจะปรับหรือเติมแต่งอะไร? อะไรที่จำเป็นต้องมี?วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์-ศีลธรรม จำเป็นต้องมีไหม? เพราะนี่คือพื้นฐานนะ ในมุมผมถ้าไม่มีใครจะล่วงเกินอะไรกันได้ ไม่รู้กรอบอยู่ตรงไหน? คุณจะไปบอกกรอบกฎหมาย กรอบกฎหมายมันตามมา แต่กรอบศีลธรรมมันอยู่ในใจหรือเปล่า? ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องมีรูปแบบของการจัดการ วันนี้เด็กจะต้องมีโอกาสทำมาหากินได้ด้วย ช่วยผู้ปกครองด้วย ไม่ใช่ต้องเรียนอยู่ในระบบถึง 8 ชั่วโมง ทั้งวันโดยที่เสียค่ารถมาแล้วก็ไม่ได้อะไร

ส่วนครู ถ้าพูดถึงระบบ ถ้าประชากรยังอยู่อย่างนี้ต้องเริ่มดูแล้ว โครงสร้างงบประมาณที่ลงมาภาครัฐกับการที่เราต้องเติม บางที่อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ไม่สมดุลกัน เราจะจัดการอย่างไร ในต่างจังหวัดมีเด็กน้อยแต่โรงเรียนยังอยู่ แต่ครูคนเดียวสอนก็กระไรอยู่ ตรงนี้ต้องเข้าไปดู ไม่ได้บอกให้ลดโรงเรียน แต่ให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ใช้วิธีการเพิ่มเติม ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เขามีอาชีพครูอย่างมีความสุข ไม่ต้องดิ้นรนมากนัก

ถาม ; ฟังท่านมาพักหนึ่งเรื่องบุคคล 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคือ “นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง” แล้วท่านเน้นพูดถึงผู้ปกครองบ่อยๆ ดูเหมือนกำลังจะสื่อว่าที่ผ่านมารัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฝ่ายนี้เท่ากับ 2 ฝ่ายที่เหลือ ดังนั้นแล้วท่านมีคำแนะนำอย่างไรกับการช่วยเหลือผู้ปกครองที่จะส่งผลดีต่อการศึกษาในภาพรวม?

ตอบ : ผู้ปกครองต้องบอกว่าเป็นสถาบันหลักเลยต่อการเติบโตของเยาวชน ผู้ปกครองวันนี้ปากกัดตีนถีบ ก็วนกลับไปที่รายจ่ายมากกว่ารายรับ

สมมุติเราตัดความเป็นห่วงของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนให้กับเด็ก 100%ผู้ปกครองสบายใจขึ้น มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ช่วยสอนการบ้านลูกอันนี้เป็นลูกโซ่กันต่อไป ถามว่ารัฐต้องเข้ามาดูไหม? ต้องเข้ามาดูจริงๆ จะให้อย่างไร? แม้กระทั่งผมคิดเล่นๆ ว่ามีลูกนอกจากจะให้ค่าเล่าเรียนแล้วต้องให้งบประมาณผู้ปกครองด้วยในการที่จะมาส่งเสริมเด็กในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบช่วยในการเรียนรู้ ในภาพรวมนะ แต่ผู้ปกครองจะไปใช้แบบไหนก็คงต้องมีกระบวนการ พอบอกว่าให้ก็เอาไปใช้เอง มันก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง แต่วิธีคิดที่ส่งเสริมเขาจะทำอย่างไร

“วันนี้เราจะต้องช่วยประชากรทั้งประเทศ ผมยังยึด 3 คำอยู่ว่าทำอย่างไรให้เขา

  1. ไม่จน หมายความว่าให้เขาอยู่อย่างพอเพียงไม่กระเสือกกะสนมากนัก ฉะนั้นต้องไปคุมรายจ่าย-เพิ่มรายได้
  2. ไม่เจ็บ ทำอย่างไรให้เขาสบายใจว่าเมื่อเจ็บป่วยจะได้รักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ นี่คือการช่วยเขาไม่ต้องให้เป็นภาระ วันนี้ไปโรงพยาบาลรัฐสงสารเขา สงสารหมอด้วยนะเพราะไม่พอจริงๆ เตียงเรียงเป็นรายรอบเลย ไม่มีห้อง ไม่มีหมอรักษาเพราะหมอไม่เพียงพอ พยาบาลก็ไม่เพียงพอ 

ถามว่าไม่จน-ไม่เจ็บทำอย่างไร? ถ้าคุณตัดปัญหาเรื่องถ้าเขาเจ็บป่วยไม่ต้องจ่ายเงินทำได้ไหม? เท่าไรก็ต้องทำ ในมุมผมนะ ไม่ใช่วันนี้จ่ายให้หัวละเท่าไรแล้วบอกว่าเยอะ ผมว่าไม่เยอะ แต่พอจ่ายไปแล้วโรงพยาบาล หมอพอไหม? ก็ต้องไปมองอีก ก็มันไม่พอ ไม่ใช่อัดงบต่อหัวให้ประชากรแต่องค์ประกอบโรงพยาบาล หมอ-พยาบาลไม่พอ ก็ต้องใส่เข้าไป

  1. ไม่โง่ ก็คือการศึกษา 3 อย่างนี้ในมุมผมนะ”ดร.ชาติชาย กล่าวในตอนท้าย 

บทความโดย ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์

ที่มา ; แนวหน้า วันพุธ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2566

Leave a Reply