หากคุณท่านไม่ได้วางแผนส่งต่อมรดกเอาไว้ หาก “ตายแล้ว” เงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่จะไปไหน

หากไม่มีการวางแผนจัดการมรดก เมื่อเราเสียชีวิตไป ทรัพย์สินที่มีอยู่อาจจะไม่ส่งต่อถึงทายาท ตามความประสงค์ คำถามคือแล้วทรัพย์สินเหล่านั้นหายไปไหน

“อิสระ” นักวางแผนการเงิน มาเยี่ยมลูกค้า ชื่อคุณภาษนัย นักธุรกิจ วัย 40 ปี ที่กำลังรับการรักษาเต้นผิดจังหวะ ซึ่งพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังคงต้องดูอาการที่โรงพยาบาลอีกสักระยะ

ภาษนัยเล่าให้อิสระฟังข้อกังวลเกี่ยวกับการวางแผนส่งต่อมรดก เพราะตอนนี้ ยังไม่เคยมีการวางแผนใดๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ประกอบกับอายุก็ยังไม่มาก จึงคิดว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องวางแผน

แต่เมื่อเข้ารับการักษาโรคหัวใจทำให้ รู้ว่าความตายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่ควรประมาทกับการใช้ชีวิต จึงต้องการวางแผนการส่งต่อมรดกให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีความกังวล หากตัวเองต้องจากไปในวันใดวันหนึ่ง

ในเรื่องของการวางแผนส่งต่อมรดกเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยอิสระได้แนะนำว่าหากโชคร้ายเสียชีวิตกระทันหันในขณะที่ยังไม่มีการวางแผนการส่งต่อมรดก สินทรัพย์ของภาษนัยจะถูกส่งต่อไปไหนบ้าง

ภาษนัยแต่งงานอยู่กินกับภรรยาวัยห่างกันเกือบ 10 ปี มีบุตรชาย 1 คนอายุ 4 ขวบ ส่วน คุณพ่อยังมีชีวิตขณะที่คุณแม่เสียชีวิตแล้ว โดยคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีพี่ชาย น้องชาย ร่วมบิดามารดา รวม 2 คน

หากไม่ได้มีการวางแผนการส่งต่อมรดกด้วยพินัยกรรม ทรัพย์มรดกทั้งหมดจะตกเป็นของทายาทโดยธรรม ตามหลักการนี้

ทายาทโดยธรรมมี 2 ประเภท คือ ประเภทคู่สมรส และประเภทญาติ 6 ลำดับ จะแบ่งมรดกไปยังทายาทโดยธรรมก็ต่อเมื่อ ผู้ตายตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำไว้แต่พินัยกรรมนั้นไร้ผล ซึ่งการแบ่งทรัพย์มรดกกองนี้ระหว่างทายาทโดยธรรมประเภทญาตินั้นต้องแบ่งตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้

  • ผู้สืบสันดาน คือ ลูก (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม) หลาน เหลน ลื้อ ไปจนสุดสาย
  • บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
  • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  • พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
  • ปู่ ย่า ตา ยาย
  • ลุง ป้า น้า อา

สำหรับคู่สมรสของเจ้ามรดกที่ถือเป็นทายาทโดยธรรม จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้ามรดก และก็จะได้รับมรดกตามสัดส่วน ซึ่งทายาทโดยธรรมประเภทญาติทั้ง 6 ลำดับข้างต้นนั้นไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน แต่หากทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับดังกล่าวเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ซึ่งทายาทลำดับต้นได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดา มารดา เท่านั้น หากมี 2 ลำดับนี้ลำดับใดลำดับหนึ่งแล้ว ลำดับ 3 ถึง 6 ก็จะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดก

สัดส่วนการแบ่งมรดกให้คู่สมรสและทายาท

  • ผู้สืบสันดาน แบ่งเท่ากันกับ คู่สมรส
  • บิดา มารดา คู่สมรสได้รับ 1:2 หรือ ผู้สิบสันดาน/บิดา มารดา แบ่งเท่ากันกับ คู่สมรส
  • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรสได้รับ 1:2
  • พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน คู่สมรสได้รับ 2:3
  • ปู่ ยา ตา ยาย คู่สมรสได้รับ 2:3
  • ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสได้รับ 2:3

หากไม่มีทายาทโดยธรรมทั้งญาติและคู่สมรส และไม่มีการทำพินัยกรรมไว้มรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน

กรณีของภาษนัยทรัพย์สินมรดกจะตกเป็นของบุตรชายแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจาก ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และคุณพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับคุณแม่ จึงไม่ถือว่าคุณพ่อเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงภาษนัยมีความต้องการจะส่งมอบทรัพย์สินให้กับครอบครัวทุกคน โดยมีรายละเอียดดังนี้

– บ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันและเงินสด 5 ล้านบาท มอบให้ภรรยา

– ที่ดิน 3 แปลง และเงินสด 10 ล้านบาทในบัญชีธนาคาร มอบให้บุตรชาย

– เงินสด 5 ล้านบาท ให้กับบิดา

– กิจการที่ดำเนินการอยู่ต้องการส่งมอบให้กับน้องชาย

อิสระ จึงแนะนำภาษนัยว่าการจัดทำพินัยกรรมเพื่อวางแผนส่งต่อมรดกโดยการเขียนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่สามารถจัดทำได้สะดวกที่สุด โดยมีข้อกำหนด ดังนี้

– ต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ใช้พิมพ์ไม่ได้

– จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้

– ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ

– ต้องลงลายมือชื่อ จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นไม่ได้

เขียนโดย: วิไล รักต้นตระกูล นักวางแผนการเงิน 

ที่มา ; blockdit

Leave a Reply