สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพภายนอก(สมศ.) ชูแนวคิดปรับระบบประกันคุณภาพการศึกษาใหม่

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชูแนวคิดปรับระบบประกันคุณภาพการศึกษาใหม่ มุ่งให้แต่ละสถานศึกษาออกแบบระบบให้เหมาะสมพร้อมนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่ได้รับมากำหนดไว้ในวิสัยทัศน์และเป้าหมายของสถานศึกษา เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่อไป

พร้อมเผยผลการประเมินตั้งแต่เดือน ต.ค. 65  จนถึงปัจจุบัน สมศ.ประเมินสถานศึกษาไปแล้ว 8,283  แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.54 จากเป้าหมายสถานศึกษาจำนวน 13,245 แห่ง และขณะนี้ สมศ. อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่เหลือ โดยคาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน 2566 นี้ 

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาว่า ที่ผ่านมาพบปัญหา 3 ประการ คือ 

1.สถานศึกษาบางส่วนไม่มีแรงจูงใจในการนำผลการประเมินไปใช้ ซึ่งปัจจุบัน สมศ. ได้นำโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาหลังจากเข้ารับการประเมินแล้วสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกและข้อเสนอแนะไปพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรม โดยดำเนินการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่งทั่วประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 700 คนที่ขึ้นทะเบียนไว้ร่วมให้คำปรึกษา แนะแนวทางการดำเนินงานให้แก่สถานศึกษาตามความต้องการของสถานศึกษา โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดศักยภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” 

2.ระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาบางแห่งยังไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการดำเนินการเป็นครั้งคราวเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เท่านั้น จึงทำให้สถานศึกษาบางแห่งมองว่าการประเมินของ สมศ. เป็นภาระ 

3.สถานศึกษาหลายแห่งที่ได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. แม้จะนำไปปรับใช้กับการทำงาน แต่ไม่ได้นำไปกำหนดไว้ในแผนของสถานศึกษาเพื่อเป็นเป้าหมายการดำเนินงาน ซึ่งจากผลการวิจัยของ สมศ. พบว่า สถานศึกษามากกว่าร้อยละ 50 มีการนำผลการประเมินของ สมศ. ไปใช้วางแผนหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่างๆ แต่พบว่ามีสถานศึกษาเพียง ร้อยละ 20 ที่นำผลการประเมินไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนา ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพไม่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“การนำผลการประเมินไปปรับใช้เพื่อพัฒนาสถานศึกษายังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร สถานศึกษาบางส่วนยังไม่มีการนำไปปรับใช้อย่างจริงจัง ดังนั้น เกณฑ์การประเมินรอบใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ สมศ. จึงมีการเพิ่มเติมเรื่องการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมาของสถานศึกษาแต่ละแห่งมาพิจารณาร่วมด้วย โดยสถานศึกษาต้องนำผลการประเมินที่ผ่านมาไปปรับปรุง พัฒนาสถานศึกษาตามข้อเสนอแนะจาก สมศ. ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และการดำเนินงานต้องเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง หรือชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นการร่วมมือร่วมใจกันต่อยอดพัฒนาให้การดำเนินงานของสถานศึกษาบรรลุเป้าประสงค์ในที่สุด” ดร.นันทา กล่าว

นอกจากนี้ สมศ. ยังคงให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษา โดยแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะกำหนดวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ทั้งในส่วนของวิธีการและจำนวนวันประเมิน แตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษา รวมทั้งเน้นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตลอดจนการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการพิจารณาจากการดำเนินงานของสถานศึกษาที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ต้องจัดทำข้อมูลหลักฐานเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระของสถานศึกษาให้มากที่สุด

สำหรับผลการประเมินสถานศึกษา โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 65 ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะเป็นปีสุดท้ายของการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้กรอบแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประกันคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์จำเป็นและเร่งด่วนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จนถึงปัจจุบัน สมศ.ได้ดำเนินการประเมินสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 8,283 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.54 จากเป้าหมายสถานศึกษาจำนวน 13,245 แห่ง และในขณะนี้ สมศ. อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่เหลือ โดยคาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน 2566 นี้

ที่มา ;  สยามรัฐออนไลน์ 6 มิถุนายน 2566   

ข่าวเกี่ยวข้องกัน

สมศ.กางผลประเมิน‘จุดเด่น-ข้อเสนอแนะ’คุณภาพการศึกษา

22 ธันวาคม 2565 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ “สมศ.” สรุปผล การดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกประจำปี 2565 พบว่า มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินฯ กว่า 19,558 แห่ง เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

ซึ่งหลังจากประเมินฯ พบจุดที่ควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาของสถานศึกษา ทั้ง 3 ประเภท ดังนี้

          1) การสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข

          2) การสร้างนวัตกรรมของสถานศึกษา และการประเมินพัฒนาการก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และ

          3) การส่งเสริมให้ผู้สอนพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชน

ด้านรูปแบบการประเมินฯ ปี 2566 สมศ. ยังคงใช้รูปแบบการประเมิน 2 ระยะ คือ การประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) และ การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐาน พร้อมทั้งยังคงเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน ในการพัฒนาและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) เพื่อเป็นการลดภาระให้กับสถานศึกษา

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์  รักษาการประธานกรรมการ สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด19 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินฯ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 19,558 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จากเดิม จำนวน 18,000 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น ศูนย์พัฒนาเด็ก 7,009 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน 11,341 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ 317 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษโรงเรียนนานาชาติ 50 แห่ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 415 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 384 แห่ง และ ระดับอุดมศึกษา 42 แห่ง ซึ่งจำนวนของสถานศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการประเมินในปีงบประมาณ 2564 – 2565 รวมทั้งสิ้น 40,835 แห่ง จากจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด 60,335 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.68 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถานศึกษาต่อ สมศ. ถึงการดำเนินงาน และการประเมินรูปแบบใหม่ที่ไม่สร้างภาระให้กับสถานศึกษา รวมถึงสถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ประเมินภายนอกนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพได้จริง

หลังจากที่ได้ประเมินฯ พบว่า แต่ละประเภทสถานศึกษามีจุดเด่นแตกต่างกัน ด้านจุดเด่นได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ส่วนข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา สมศ.ได้ให้ข้อเสนอแนะ โดยแบ่งตามประเภทของสถานศึกษา ดังนี้

การศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก)

จุดเด่น คือการมีส่วนร่วมของ ชุมชน ผู้ปกครอง  การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ มีการจัดบรรยากาศการเรียนที่ดี ครูและผู้ดูแลเด็กมีความรู้ในการจัดประสบการณ์ เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัยและมีสุขนิสัยที่ดี มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษาและท้องถิ่น โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข พัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ รวมถึงสื่อในรูปแบบ Online เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจนตามกระบวนการคุณภาพ PDCA

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

จุดเด่น คือผู้เรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย มีความสุขกับการเรียนรู้ และมีการส่งเสริมทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดี มีการบริหารงานมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือสถานศึกษาควรส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรม และสื่อ Online เพิ่มมากขึ้น และควรมีการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ด้านการอาชีวศึกษา จุดเด่น คือผู้เรียนมีทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงาน โดยข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนา คือการพัฒนาการสอนในระบบทวิภาคีให้มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ครูพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชนให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

“สำหรับสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินแล้ว พบว่า หลายสถานศึกษามีการนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และตรงกับวัตถุประสงค์หลักของ สมศ. อีกทั้งอยากสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาว่า การประเมินฯ นั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมศ.ได้ปรับแนวทางการประเมิน และพัฒนาผู้ประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการประเมินตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็ว และก้าวทันสถานการณ์โลก ที่สำคัญอยากให้ตระหนักว่าการประเมินฯ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ยังคงมุ่งเน้นเดินหน้าในการสร้างคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับนานาชาติ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในการการประเมินอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่ประชุมเครือข่ายการประกันคุณภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APQN) ที่ทุกประเทศสมาชิกมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์มาใช้ รวมถึงรูปแบบการตรวจเยี่ยมเสมือนจริง (Virtual Assessment) โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ตั้งเป้าหมายสถานศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจำนวน 13,212 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เหลืออยู่ทั้งหมดและยังไม่ได้รับการประเมินในช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา

โดยแบ่งการประเมินฯ ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่1 เป็นการประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นการประเมินตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 49 และ
  • ระยะที่2 เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษาในรูปแบบการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของสถานศึกษาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประเมินทั้ง 2 ระยะ เป็นการประเมินที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษา

สมศ. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนการประเมิน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย สมศ.ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ / กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย / กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ในการพัฒนาเชื่อมต่อและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) ร่วมกันโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ

  • สถานศึกษาจะจัดส่งรายงานประเมินตนเอง (SAR) ให้กับหน่วยงานต้นสังกัด
  •  จากนั้นหน่วยงานต้นสังกัดจะรวบรวมไฟล์ SAR ของสถานศึกษาจัดส่งเข้าสู่ระบบ e-SAR เพื่อจัดเก็บรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ และประหยัดเวลาตั้งแต่เริ่มการประเมินไปจนสิ้นสุดการประเมิน ตลอดจนพัฒนาระบบการออกใบรับรอง (e-Certificate) ให้กับสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและรับรองรายงานผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว

“ทั้งนี้การประเมินคุณภาพของ สมศ.ในช่วงนี้จะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ให้สถานศึกษาได้ทราบระดับคุณภาพสถานศึกษาของตนเองในปัจจุบัน โดยเทียบกับการประเมินในรอบที่ผ่านมา เพื่อที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในกระบวนการประเมินนั้น สมศ. ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องกังวลว่าการประเมินคุณภาพภายนอกจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้ เพราะการประเมินจะดำเนินการตามบริบทของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด และในส่วนของสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกไปแล้วนั้น ขอให้นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก สมศ. ในด้านต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาและต่อยอดพัฒนาไปสู่ระดับสากล ต่อไป” ดร.นันทา กล่าว  

ที่มา ; แนวหน้า วันพฤหัสบดี ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เกี่ยวข้องกัน

“สมศ.” ปลื้มโรงเรียนนำผลประเมินไปพัฒนาต่อยอด

ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาทุกระดับ และทุกแห่งในประเทศไทย ทั้งการศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษา มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษาทุกประเภทนำผลจากการประเมินไปปรับใช้เพื่อยกระดับ พัฒนา และต่อยอดให้สถานศึกษาก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อันจะส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งได้มีการนำผลประเมินจาก สมศ. ไปปรับใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอนต้อนรับเปิดเทอมใหม่นี้ด้วย 

ดร.ธัญมัย เดชมา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) กล่าวว่า จากรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่มุ่งสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ดังนั้นสถานศึกษาจึงจัดทำแผนงานอย่างมีเป้าหมายและวัดผลได้ทุกประเด็น และในภาคเรียนใหม่นี้สถานศึกษายังคงมุ่งสร้างนวัตกร โดยนำความโดดเด่นของนวัตกรรมของสถานศึกษาในหลายด้านมาพัฒนาและต่อยอดการบริหารเพื่อพัฒนาการศึกษาทั้งระบบอย่างยั่งยืน ร่วมกับการใช้หลายศาสตร์มาผสมผสานกันเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย รวมถึงการทำให้นักเรียนเป็นคนดี มีความสุข ใช้ชีวิตเป็น เป็นนวัตกรได้ โดยมุ่งพัฒนาใน 5 ด้าน คือ

  1. ทำให้สถานศึกษาเป็นบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย
  2. มุ่งพัฒนาปัญญาภายใน
  3. สอนโดยใช้กระบวนการ Active Learning ที่นักเรียนจะมีโอกาสได้สืบค้น แสดงบทบาทสมมติ
  4. จิตภาคเชิงบวก สนามพลังบวก และพื้นที่ปลอดภัย
  5. การมีส่วนร่วมและเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะเครือข่ายทั้งหมดต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ทั้งนี้สถานศึกษาได้เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนใหม่โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรทุกปี เพื่อให้สนองตอบผู้เรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้ หากพบว่าหลักสูตรยากไปหรือง่ายไป จะมีการปรับให้เหมาะสม สิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือมีการอบรมครูในเชิงปฏิบัติการ อบรมเรื่องการวัดผล ออกแบบเครื่องมือที่วัดผลได้จริง มีการออกแบบความคิด และครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชสอนให้นักเรียนคิดได้ด้วยการมุ่งส่งเสริมให้มีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มุ่งไปที่คำว่า “นวัตกร” ตามคำแนะนำที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ทำให้สถานศึกษามุ่งเน้นให้นักเรียนจะต้องคิดเป็น สร้างงานได้ สร้ายรายได้ และเรียนอย่างมีความสุข  

“ทั้งนี้ต้องขอบคุณ สมศ. ที่ได้ชี้แนะแนวทางการปรับปรุง พัฒนา ต่อยอด เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการเรียนการสอนของทางสถานศึกษาผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสถานศึกษาได้นำมาเป็นแนวทางให้ครูผู้สอนได้นำมาพัฒนาแนวทางการสอนเพื่อที่จะเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้เรียน เพื่อให้สามารถผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพเพื่อให้พร้อมสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงต่อไป” ดร.ธัญมัย กล่าว

ดร.พวงผกา แสงเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) กล่าวว่า สถานศึกษาได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. มาต่อยอดกับกิจกรรมรักการอ่านของโรงเรียน ทำให้ล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานศึกษานำร่องของโครงการ Let’s Read and Play (Thailand) ของมูลนิธิเอเชีย ที่จัดส่งทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมทำกิจกรรมกับผู้เรียนเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้หนังสือตั้งแต่ระดับปฐมวัย ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและ best practice ตามที่สถานศึกษาได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. ด้วยการระดมความคิดเห็นกับครูผู้สอน จนสรุปแนวคิดทั้งหมดออกมาเป็นนวัตกรรมอากาศโมเดล (ARKAAD Model) เพื่อให้ครูผู้สอนใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการเรียนการสอน และสำหรับเปิดเทอมใหม่นี้ก็ยังคงยึดแนวทางโมเดลนี้อย่างต่อเนื่อง คือ

  • A = Analysisวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาโอกาสและอุปสรรคที่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของสถานศึกษา
  • R = Reviewทบทวนและศึกษาแนวคิดที่จะสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ ARKAAD Model
  • K – Knowledge Managementกระบวนการจัดการความรู้ภายในสถานศึกษาตามเทคนิคของคุณครูผู้สอน
  • A – Activeกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning 12 วิธีใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
  • A – Assessmentการใช้นวัตกรรมมาจัดการเรียนรู้แบบ ARKAAD Model โดยมีการประเมินและตรวจสอบทั้งระหว่างการใช้นวัตกรรมและเมื่อใช้นวัตกรรมไปแล้ว
  • D – Developmentนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ที่จะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และนำมาพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนให้มีความยั่งยืนต่อไป  

“การที่สถานศึกษาได้นำผลการประเมินของ สมศ. ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้นนั้น ผลดีที่เกิดขึ้นตามมาคือคุณภาพของตัวผู้เรียนเอง ซึ่งก็จะสะท้อนกลับมาให้เห็นถึงคุณภาพการเรียนการสอนในที่สุด ต้องขอบคุณ สมศ.ที่ให้คำแนะนำที่มีคุณค่ากับทางสถานศึกษา ทำให้สามารถนำมาต่อยอดกับกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นภายในสถานศึกษา จนขยายผลกลายเป็นโครงการที่มีพันธมิตรภายนอกมาร่วมให้การสนับสนุน และยังได้เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการดังกล่าว ทำให้กิจกรรมรักการอ่านของโรงเรียนโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) มีความเข้มข้นมากขึ้นและช่วยพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.พวงผกา กล่าว  

ที่มา ;   สยามรัฐออนไลน์ 30 พฤษภาคม 2566

รวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ประชุมชี้แจงการประกันคุณภาพภายนอก ปี 2566

รวมสาระเกี่ยวกับการประกันและการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก โดย สมศ.

Leave a Reply