เลือกตั้ง ; จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย จากทัศนะ ดร.สิริกร มณีรินทร์

ความตกต่ำของการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไปหลายสิบปีมาแล้ว เราอยู่ปลายๆแถวทุกสถิติทั้งในและนอกประเทศ IMD จัดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาปี 2565 ไทยอยู่ที่ 53 จาก 63 ประเทศ ผลการประเมิน PISA ปี ค.ศ. 2018 ไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการอ่าน และอยู่กลุ่มต่ำสุดบนมาตรวัดนานาชาติ การประเมิน PISA 2018 เน้นการอ่านเป็นหลัก น้ำหนักข้อสอบถึง 60%  เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทุกประเภท ผลประเมินทักษะด้านการอ่านของนักเรียนไทยน้อยที่สุด มีคะแนนเฉลี่ย 393 คะแนน ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน

ผลการประเมิน PISA สรุปว่านักเรียนไทยยังมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และยังสะท้อนชัดถึงความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในระบบการศึกษาไทย นักเรียนไทยส่วนน้อยเพียง 0.2% เท่านั้นที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มสูง เป็นกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทย์ และกลุ่มโรงเรียนสาธิต

คณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษาสรุปในรายงานเสนอครม.เมื่อปี พ.ศ.2562 ว่า พิจารณาระบบการจัดการศึกษาโดยรวมพบว่า ผู้เรียน มีคุณภาพในระดับต่ำ ไม่สามารถนำความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่มีไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ การศึกษาไม่สามารถพัฒนาเด็กไทยให้ทำงานเป็น อยู่ร่วมกับสังคม เพราะขาดการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำ เด็กเรียนจบแล้วทำงานไม่ได้ ไม่มีคุณภาพที่นายจ้างทั้งรัฐ/เอกชนต้องการ

แปดปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกแบบการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งองค์คณะบุคคล 5 คณะ ดังนี้

1.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (พ.ศ. 2557 –2558)

2.สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (พ.ศ.2558-2560)

  1. คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2560-2562)
  2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์(พ.ศ. 2563-2565)
  3. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (พ.ศ.2565 )

ต่างก็มีหน้าที่และอำนาจจัดทำและปรับปรุงแผนการปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ แต่ผลก็เป็นดังที่เราทุกคนทราบ

ผู้เขียนเป็นคนผูกพันกับวงการศึกษาก็ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปช่วย”ปฏิรูป”กับ 3 คณะบุคคลร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรที่ทำงานกันด้วยความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ห้องเรียน สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นมาคือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ  พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562

คนรักการปฏิรูปการศึกษาก็มีไม่น้อย เมื่อผู้เขียนเป็นประธานยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะปีที่ผ่านมานั้น ครู อาจารย์ ต่างๆเข้าไปช่วยกันอย่างแข็งขันแม้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ กองกำลังเล็กๆของคนรักการปฏิรูปพร้อมใจช่วยกันยกเครื่องร่าง”หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…ฐานสมรรถนะ”.เสร็จไปแล้วในระดับประถม 1-6 แต่ก็ถูกมือที่มองไม่เห็นเบรกหยุดไว้ และการเดินหน้าสำหรับระดับมัธยมก็หยุดไปโดยสิ้นเชิง การขับเคลื่อนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ร่างพ.ร.บ.การศึกษาพ.ศ… ที่รัฐบาลส่งคนร่างขึ้นมา ก็มีอันตกสภา จนหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับรัฐบาลนี้ร่างไม่ดีพอจริงหรือ หรือรัฐบาลไม่อยากปฏิรูปตั้งแต่แรกแล้ว

สิ่งที่น่าเสียดายยิ่งกว่างบประมาณที่รัฐบาลใช้ไปกับการปฏิรูปบนกระดาษ คือเวลาที่ผ่านไปพร้อมกับความบอบช้ำที่เกิดกับเด็ก เราจึงเห็นปรากฎการณ์ม็อปเด็กมัธยมผู้อึดอัดต่อสภาพที่จำทน ออกมาประท้วงระบบ ระเบียบและสิ่งที่เกิดในโรงเรียน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ใครเลยจะมีความสุขเมื่อต้องเรียนหลักสูตรที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่อาจให้ความหมายในชีวิต ในขณะที่เขารู้ชัดว่าเทคโนโลยีฉุดกระชากโลกให้หมุนไปอย่างก้าวกระโดด

ผู้เขียนได้กล่าวถึงผลของ PISA ซึ่งสะท้อนชัดถึงวิกฤติการอ่านของนักเรียนไทย (ในขณะที่รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการไม่ส่งเสริมการอ่านมาแสนนานแล้ว)  OECD ก็กำลังเตรียม PISA 2025แนวใหม่ Learning in the Digital World ด้วยเหตุผลว่าวิธีการเรียนรู้ในยุคนี้ เปลี่ยนไปแล้วจากที่เรียนช่องทางเดียวที่น่าเชื่อถือ  เป็นการเรียนด้วยด้วยเครื่องมือดิจิทัลด้วยตนเองหลากหลายทาง การศึกษาต้องเตรียมเด็กให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต แบบทดสอบใหม่จะประเมินทักษะสมรรถนะผู้เรียนในแบบใหม่

แนวการประเมินผลที่เปลี่ยนแปลงนี้ตอกย้ำว่าการศึกษาในโลกปรับเปลี่ยนรับกับบริบทสังคม ถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยนแปลงจริงจัง ก็ย่อมเหมือน ซ้ำเติมเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศที่รัฐมีหน้าที่ต้องดูแล ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำจะขยายห่างจากกันมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวกลุ่ม 20 % ล่าง 1.8 ล้านคนที่ผ่านการคัดกรองว่าเป็น นร.ยากจน และยากจนพิเศษ ซึ่งครอบครัวเข้าไม่ถึง อินเทอร์เน็ต และอาจมีสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวทั้งบ้าน โรงเรียนก็ขาดแคลนไปทุกสิ่งตั้งแต่ครูจนถึงอุปกรณ์และห้องสมุด น้องๆเหล่านี้ไปไม่ไกลเกินม.3 ครึ่งหนึ่งไปไม่ถึงมัธยมปลายและ 86% ไปไม่ถึงมหาวิทยาลัย(ข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)

เรามีเด็กแตกต่างหลากหลายกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อโรงเรียนไทยไม่ตอบโจทย์ พ่อแม่คนมีสตางค์ส่วนใหญ่ ก็ส่งลูกไปรร.นานาชาติ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำงานหนักที่จะคงความเป็นไทยในตัวลูกเมื่อรัฐบาลประกาศจะบรรลุเป้าหมาย SDG4 ปี ค.ศ.2030  “ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” ก็ควรดำเนินการจริงจัง ถึงเวลาไหมที่รัฐต้องคิดในมิติใหม่ จะดึงดันใช้ทั้งหลักสูตรโบราณที่กำกับจากส่วนกลาง ล้าสมัยทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ ระบบงบประมาณ การจัดการที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายที่พื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุด

วันนี้ ในโอกาสที่ประชาชนถืออำนาจอยู่ในมือ ขอเชิญชวนให้คนไทยเราออกไปใช้สิทธิ์เลือก “พรรคที่ใช่’ ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ปลดแอก ช่วยให้เด็กและครูหลุดออกจากภาวะ “วังเวง”ด้านการศึกษา การเสนอเพียงประชานิยมแจกอย่างเดียวไม่พอแล้วที่จะเยียวยาการศึกษาไทย

กาลเวลาพิสูจน์ว่าการปฎิรูปการศึกษาจะเกิดได้ ก็ด้วย Political will หรือ เจตจำนงดีงามทางการเมือง พรรคการเมืองอาจเสนอสรรพสิ่งฟรีได้ แต่พรรคนั้นต้องมีคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองด้วย มีนายกฯที่มีวิสัยทัศน์ มีทีมการศึกษาที่รู้จัก เข้าใจประเทศไทย จริงใจและกล้าเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยก้าวไปทันโลกอย่างสมดุลบนฐานทุนวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ส่งนักการเมืองแบบไหนก็ได้มาบริหารกระทรวงที่สร้างปัญญาแก่ประเทศ

เมื่อปรากฏแสงแห่งความหวังของการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนก็หยิบเอกสารที่ทำทิ้งค้างไว้มาปัดฝุ่นทำต่อ ด้วยความฝันว่าอาจจะเป็นประโยชน์ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ปฏิรูปการศึกษาต่อ คือการศึกษาแนวทางการทำหลักสูตรการศึกษาในสากลโลก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างหลักสูตรประเทศเกาหลีใต้และประเทศฝรั่งเศส เป็นตัวแทนของเอเชียและยุโรป

เกาหลีใต้นิยามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy ว่าเป็นการผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมเข้ากับอุตสาหกรรม โดยให้ความคิดสร้างสรรค์ผลิดอกเบ่งบาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 รัฐบาลประกาศว่า “อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับการพัฒนาคนให้มีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ จึงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงคนรุ่นนี้ผ่านพลังของการศึกษา” หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2558 มุ่งส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 2 เรื่องที่โรงเรียน

  • เรื่องแรกคือ Free Semester นักเรียนมัธยมต้นทุกโรงเรียนมีหนึ่งเทอมที่เป็นอิสระจากการสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดและให้นักเรียนได้ใช้เวลาหนึ่งภาคเรียนเต็มๆ ค้นหาความถนัด ความสนใจของตน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาโอกาสและเดินตามความฝันในชีวิต โรงเรียนจัดกิจกรรมหลากหลายร่วมกับเครือข่ายทั้งท้องถิ่น ภาคเอกชน ให้นักเรียนได้เลือกงานอดิเรกหรือสิ่งที่อยากทำในอนาคต ได้สัมผัสประสบการณ์จริงหลากหลายในโลกของอาชีพ ครั้งนั้น นักเรียนถึงกับพูดว่าโครงการนี้เหมือน “พบน้ำเย็นในโอเอซิสกลางทะเลทราย”
  • ข้อที่สองคือ Software Education ซึ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถม มัธยมจนถึงอุดมศึกษา ด้วยนโยบายนี้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ได้สอนกันตั้งแต่ชั้นประถมในเกาหลีใต้มานานแล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ เกาหลีใต้ไม่ทิ้งคุณค่าของทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม ประวัติศาสตร์และศิลปะของชาติ อีกทั้งในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ รัฐบาลทำทั้งระบบที่เกี่ยวข้อง หลายกระทรวงจะเดินหน้าจับมือไปด้วยกันต่อเนื่อง เป็นการสร้างระบบนิเวศแวดล้อมเป็นพลังโดยรอบ เช่น

  • กีฬายิงธนูอันเก่าแก่สอนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม ปรากฏเป็นฉากในหนังละครเสมอๆ นักกีฬายิงธนูเกาหลีใต้จึงครองเหรียญทองเกินครึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกติดต่อกัน 40 ปีแล้ว
  • การส่งเสริมการอ่านก็ทำอย่างต่อเนื่องจริงจังทั้งระบบ อันมีครู บรรณารักษ์ ห้องสมุดและภาคเอกชน สภาถึงขั้นออกกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่ พ.ศ.2550 และทำแผนแม่บทส่งเสริมการอ่านทุก 5 ปี ทำร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรมและรัฐบาลท้องถิ่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ในเกาหลีใต้เกิดใหม่และดำรงไปอย่างมีชีวิตชีวาทุกเมือง

การศึกษาคือพลังส่งเกาหลีใต้ให้ก้าวขึ้นมารุ่งเรืองทั้งอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ คิดคอนเทนต์สร้าง K-Pop หนัง ละครให้คนติดทั่วโลก ผลิตนักกีฬา นักดนตรี มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์แบรนด์ดังมากมาย

ด้านฝรั่งเศส เจ้าแห่งอารยธรรมฝั่งโลกตะวันตกที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและงานศิลปะชิ้นเอก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศสใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวม ทั้ง “ความรู้ สมรรถนะและวัฒนธรรม” เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนต้องมีครบทั้งภาษาเพื่อคิดและสื่อสาร วิธีการและเครื่องมือเพื่อใช้เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตัวตนและความเป็นพลเมือง ระบบธรรมชาติและวิทยาการ ความเข้าใจในโลกและมนุษยชาติ เป็นการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างศิลป์และศาสตร์

นอกจากเทคโนโลยีวิทยาการทันสมัยและการเน้นบูรณาการการสอนข้ามวิชาให้ศาสตร์ต่างๆ ไม่แยกส่วน หากเชื่อมโยงสัมพันธ์กันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในแนวทางการศึกษาของสองประเทศ คือในทุกวิชาตั้งแต่ระดับประถมปีที่หนึ่ง จะเน้นให้เด็กทดลอง ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ ฝึกรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการอบรมให้ครูสามารถนำหลักสูตรไปใช้ที่ห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในวิชาที่เราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เช่น พลศึกษา ศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา วิชาพลศึกษาในฝรั่งเศสกำหนดจุดมุ่งหมายอบรมผู้เรียนเป็น “พลเมืองที่มีจิตสำนึกที่ดี พึ่งพาตนเองได้ และได้พัฒนาทางร่างกายและสังคม มุ่งเน้นการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและเรียนรู้ที่จะแสดงออกโดยใช้ร่างกาย การแบ่งปันกฎกติกา สวมบทบาท

หน้าที่รับผิดชอบต่างๆ (ผู้เล่น ผู้ฝึกสอน กรรมการ ผู้ตัดสิน คนกลาง ผู้จัด) ซึ่งฝึกให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เรียนรู้ที่จะรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ สร้างเสริมวัฒนธรรมทางกีฬา และศิลปะ”

วิชาศิลปศึกษาของฝรั่งเศส มีชื่อวิชาแปลตรงตัวว่า Plastic Arts มาจากคำกรีก plastikos แปลว่า “ปั้นเป็นรูปทรง” เป็นวิชาที่ครอบคลุมจิตรกรรม ประติมากรรม การเต้นรำ การจัดการแสดงละคร และศิลปะดิจิทัลใช้ถ่ายภาพ ตกแต่งภาพและตัดต่อภาพยนตร์ วิชานี้ “บ่มเพาะความรู้สึกซาบซึ้งและรับรู้สุนทรียภาพทางศิลปะ ส่งเสริมให้จิตใจละเมียดละไม พัฒนาทักษะทางสุนทรียภาพให้นักเรียนมี ‘ดวงตา’ ที่กระหายการเรียนรู้ จนเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับความงามของงานศิลปะหลากหลาย ก่อเกิดบุคลิกภาพและความเป็นพลเมือง การเข้าถึงคุณค่าของวัฒนธรรมซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม” ทั้งนี้ นักเรียนต้องได้ชมงานศิลปะ ทดลองใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ จนสร้างสรรค์งานศิลปะได้ แล้วฝึกนำเสนอและจัดแสดงงานศิลปะ เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับงานที่ตนสร้างขึ้น นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุง พร้อมกันนั้นก็ต้องฝึกวิจารณ์งานศิลปะของเพื่อนอย่างสุภาพเช่นกัน 

การศึกษาไทยได้หยุดนิ่ง จนประเทศอื่นเดินเลยไปล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ทำไมเราจะปล่อยให้เด็กไทยถูกทิ้งให้ล้าหลังอีก น่าอนาถที่กว่าเราจะได้ปรับหลักสูตรใหม่ ประเทศอื่นก็ได้เวลาปรับปรุงตามวงรอบเวลาปรับหลักสูตร

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 28 เมษายน 2566 และ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

Leave a Reply