ครู คือ บุคคลตั้งต้นคุณภาพการศึกษา เพราะคุณภาพการศึกษาไม่มีวันจะดีไปกว่าคุณภาพของครูไปได้ (Sir Michael Barber,2009) การจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีได้ จะต้องเริ่มจากการคัดเลือก “คนดี” และ “คนเก่ง” ให้เข้ามาสู่วิชาชีพครู นั่นคือ หลักคิดที่สำคัญที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพชั้นนำของโลก จะใช้แนวทางนี้
ประเทศไทย ก็เชื่อมั่นในแนวทางนี้เช่นเดียวกัน จึงมีกฏหมายกำหนดให้บุคคลสัญชาติใดก็ตามที่ประสงค์จะมาประกอบวิชาชีพครู ในประเทศไทย จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทุกคน และทุกคนจะต้องมีสมรรถนะพื้นฐานทางวิชาชีพที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นครูที่ดีและมีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมืออาชีพ เมื่อบุคคลนั้นได้รับการประเมินสมรรถนะอันประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) คุณลักษณะ (Attributes) และเจตคติ (Attitude) ที่เหมาะสมแล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู (Teaching License) จาก สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
เส้นทางการเข้าสู่วิชาชีพครูในประเทศไทยที่เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด คือ เข้าเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือโทหรือเอกทางการศึกษาและหลักสูตรนั้นจะต้องได้รับการรับรองจาก สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งระดับปริญญาตรีจะมีทั้งหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรไม่ว่าจะระดับใดแล้วก็ตาม จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching License : P – License) ซึ่ง
สามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นครูได้ทุกสังกัดหรือไปเป็นครูในโรงเรียนเอกชนทั่วไป และโรงเรียนนานาชาติได้ แต่จะมีอายุใช้งานได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ระหว่างทางจะต้องพยายามสอบรับใบประกอบวิชาชีพครูระดับ Basic Teaching License : B – License ให้ได้
การเข้าสู่วิชาชีพครูสำหรับบุคคลที่สนใจจะเข้าสู่วิชาชีพครูในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 บุคคลที่เป็นครูในสถานศึกษาเอกชน ประเภทโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนนานาชาติ(ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติทุกสัญชาติ) รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก และกลุ่มครูอัตราจ้าง กลุ่มครูเหล่านี้ จะต้องขออนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูโดยขอยกเว้นการมีใบประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะอนุญาตให้คราวละสองปี
- กลุ่มที่ 2 บุคคลที่ยังไม่ได้เป็นครู แต่สนใจที่จะเป็นครู และสำเร็จการศึกษาจากคณะต่าง ๆ กลุ่มนี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษาใด ๆ เลย
บุคคลกลุ่มที่ 1 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังดำเนินการเร่งรัด และเชิญชวนให้ท่านที่ขอรับการผ่อนผันการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องพยายามทำให้ได้มาซึ่ง Basic Teaching License โดยเร็ว ท่านมีทางเลือกอยู่ 3 ทางเลือก ประกอบด้วย
(1) การไปเรียนปริญญาตรี หรือปริญญาโทหรือปริญญาเอกทางการศึกษาหรือทางการสอน ในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้การรับรอง
(2) การไปเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอน (หลักสูตรนี้อนุญาตเฉพาะคนที่กำลังสอนอยู่ในโรงเรียนแล้วเท่านั้นเข้าเรียนได้ หากยังไม่ได้ทำหน้าที่สอนในปัจจุบันจะสมัครเข้าเรียนไม่ได้)
(3) การเข้าเรียนในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังจะเปิดให้สมัครเรียนผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 7 Modules เมื่อเรียนจบในทั้งสามทางเลือกนั้นแล้ว ทุกคนจะต้องเข้ารับการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามระบบ ไม่ว่าท่านจะเป็นชาวไทย หรือ ชาวต่างชาติ จะต้องดำเนินการเช่นนี้ทุกคน
บุคคลกลุ่มที่ 2 ท่านไม่มีทางลัดใด ๆ ที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครู ท่านจะต้องเรียนปริญญาตรี หรือปริญญาโทหรือปริญญาเอกทางการศึกษาหรือทางการสอน ในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้การรับรองเมื่อเรียนจบแล้ว จะต้องเข้ารับการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามระบบ ท่านไม่สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอนได้ รวมถึงไม่สามารถเข้ารับการอบรมมาตรฐานความรู้ 7 Modules แบบออนไลน์ ได้ เพราะหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิตและหลักสูตรอบรม 7 Modules พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาครูที่ได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติหน้าที่ครูที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันเท่านั้น
บุคคลกลุ่มที่ 1 กรณีที่ท่านเป็นครูมานานหรือท่านอาจจะมีสมรรถนะบางอย่างที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูบางมาตรฐาน ท่านสามารถรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วยื่นขอรับการเทียบประสบการณ์เพื่อขอยกเว้นการเรียนในมาตรฐานนั้น ๆ ได้ เมื่อท่านพิสูจน์แล้วว่าท่านมีสมรรถนะทางวิชาชีพครู ครบ 7 มาตรฐาน จากนั้น ท่านจะมีสิทธิ์เข้ารับการสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครูแบบ Basic Teaching License ได้
กรณีครูชาวต่างชาติ ท่านอาจจะสำเร็จการศึกษามาจากประเทศของท่าน ท่านอาจจะมีคุณวุฒิทางการสอนหรือทางการศึกษา แต่ต้องยอมรับว่า หลักสูตรเหล่านั้น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไม่ได้ให้การรับรองว่า จะมีมาตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับสมรรถนะทางวิชาชีพของ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หรือไม่ หรือท่านอาจจะมีใบประกอบวิชาชีพครูเฉพาะทางมาจากองค์กรสากล แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ภายใต้หลักการแห่งความเท่าเทียมระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลงในการยอมรับการใช้มาตรฐานวิชาชีพครู ร่วมกันกับองค์กรวิชาชีพครูหรือประเทศใด ๆ เลย จึงทำให้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ยังไม่สามารถให้การยอมรับใบประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งหลักแห่งความเท่าเทียมระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นได้เช่น หากครูจากประเทศนั้นมาประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทยแล้ว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ยอมรับและออกใบประกอบวิชาชีพครูให้ภายใต้ข้อตกลงระหว่างกัน หากมีครูไทยจะไปประกอบวิชาชีพครูในประเทศนั้น ๆ ก็ย่อมจะต้องได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่ในปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ยังไม่มีอำนาจในการที่จะยอมรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากองค์กรหรือประเทศใดๆ เลย จึงทำให้ ครูชาวต่างชาติทุกคน (ไม่ว่าจะสอนในโรงเรียน EP Program หรือ International School) จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการของการควบคุมวิชาชีพครูของประเทศไทย แต่ท่านอาจจะเรียน หรืออาจจะขอเทียบโอนประสบการณ์ แต่สุดท้ายทุกคนจะต้องมาจบที่การสอบรับใบประกอบวิชาชีพครูทุกคน ไม่มีใครที่จะสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยไม่ต้องสอบ ทั้งนี้การสอบจะต้องสอบผ่านทั้งสองวิชา คือ วิชาครู (Teachers’ Profession) และวิชาเอก (Major) ที่จะสอนในโรงเรียน
หวังว่าทุกท่านที่ปรารถนาจะประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทย คงจะเข้าใจและยอมรับในหลักการของการที่ทุกประเทศ เชื่อมั่นว่า คุณภาพคนคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จุดตั้งต้นของคุณภาพคน คือ การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และหน่วยเล็กที่สุดของการจัดการเรียนรู้คือ ห้องเรียน บุคคลที่จะดูแลห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่มีชีวิตและคุณภาพ คือ ครู
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงต้องทำหน้าที่ในการปกป้อง กลั่นกรองบุคคลที่จะเป็นครู อย่างเข้มข้นและทำให้วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง มีเกียรติ ศักดิ์ศรีและมีสมรรถนะขั้นสูงในการประกอบวิชาชีพได้อย่างมีคุณภาพ ให้สมกับความเชื่อที่ว่า “คุณภาพการศึกษา ไม่มีวันจะดีไปกว่าคุณภาพของครูไปได้”
“ไม่ใช่อบรมผ่านเฉยๆ แล้วไปเป็นครู ต้องสอนอยู่ในปัจจุบัน ต้องประเมินสมรรถนะการสอนก่อน ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพครู โดยต้องสอบสองวิชา คือ วิชาครู กับวิชาเอก ผ่านทั้งสองวิชาจึงจะได้ใบประกอบวิชาชีพ”
“คนที่ไม่ได้เป็นครูในปัจจุบัน ณ วันนี้ และไม่เคยได้รับการผ่อนผันให้สอนได้โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู และต้องมีชื่ออยู่ในถังข้อมูลของคุรุสภา ณ วันนี้ เท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์เข้าอบรม 336 ชั่วโมง นี้ แล้วต้องไปสอบใบประกอบวิชาชีพอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ จะเริ่มถามคนที่มีชื่อว่าจะเรียนไหม ในเดือนมีนาคม 2566 นี้ คนอื่นไม่มีชื่อ ไม่มีสิทธิ์ แต่หากอยากเป็นครู เสนอแนะว่า ควรเรียนปริญญาโททางการศึกษาแบบขอมีใบประกอบวิชาชีพครู จะดีมากกว่า”
“คุรุสภา ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาครูที่สอนในสถานศึกษาหลายแห่ง ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูและทางโรงเรียนนั้น ๆ ได้ขอผ่อนผันให้ครูได้สอนในโรงเรียนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพมานาน บางคนนานถึง 10 ปี บางคนก็อาจจะน้อยกว่านั้น ซึ่งมีมากถึงประมาณ 50,000 คน มีทั้งครูที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจริง ๆ แล้วครูที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ จะต้องไปเรียนเพื่อให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ให้ได้อย่างมืออาชีพ เพราะการจัดการเรียนรู้ที่ดี จะต้องเข้าใจธรรมชาติผู้เรียน ต้องเข้าใจว่ามนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร ต้องรู้ว่าการวัดและประเมินการเรียนรู้ทำอย่างไร ต้องรู้หลักสูตร ต้องรู้ว่าจะสอนให้นักเรียนมีสมรรถนะในการคิดจะทำได้อย่างไร จิปาถะ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝน อบรม พัฒนา นี่คือความเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่ว่าแค่พูดภาษาได้ก็เป็นครูได้ ดังนั้น คุรุสภา จึงกำหนดให้มีการแก้ปัญหาเฉพาะครูที่ขอผ่อนผันการไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จะต้องบังคับให้เข้าระบบการเรียนเพื่อให้เกิดสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพทั้ง 7 ด้าน โดยสร้างเป็นชุดการเรียนรู้ (Module) โดยมีการเรียนภาคทฤษฎีในแต่ละโมดูล จำนวน 48 ชั่วโมง และให้มีการปฏิบัติการ (Workshop) อีก 12 ขั่วโมง ทุกคนจะต้องเรียนให้ครบ 7 โมดูล จากนั้นจะส่งชื่อเข้าสู่ระบบสอบใบประกอบวิชาชีพครูอีกครั้งหนึ่ง และรายชื่อคนที่จะเข้าอบรมตามชุดการเรียนรู้นี้ได้ จะมีเฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว และมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของคุรุสภาอยู่แล้วเท่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นครู จะไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนในโมดูลนี้ได้เลย ดังนั้น ข่าวที่ว่าคนที่เรียนจบจากคณะอื่น จะมาใช้ทางลัดเรียนในโมดูลนี้ ไม่ได้โดยเด็ดขาด ย้ำว่าจะต้องมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของคุรุสภาแล้วเท่านั้น ส่วนใครจะได้เข้าเรียนในโมดูลนี้ก่อน คุรุสภาจะถามไปถึงเจ้าตัวต้นเดือนมีนาคม 2566 นี้ โดยเจ้าตัวต้องยืนยันกลับมาอย่างเป็นทางการ”
รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาด้านการพัฒนาวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา
ที่มา ; FB Montree Yamkasikorn
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
15 มี.ค.ดีเดย์ ใช้ข้อบังคับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 4 ประเภท คือ
1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และ
4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
ซึ่งการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อบังคับใหม่จะเป็นใบอนุญาตที่มีการบ่งบอกถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของครู และให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเห็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน รวมถึงผู้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความเชื่อมั่นในการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำแนกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License) หรือ P-License มีอายุ 2 ปี
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License) หรือ B-License มีอายุ 5 ปี
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License) หรือ A-License มีอายุ 7 ปี
การศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูครบตามที่คุรุสภากำหนด
สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูฉบับเดิมก็ใช้ใบอนุญาตฉบับเดิมจนกว่าจะหมดอายุ และเมื่อต่อใบอนุญาตจะได้ B-License ส่วนการจะรับ A-License ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระดับ B-License หรือฉบับเดิมอยู่แล้ว และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้มีสิทธิต้องยื่นขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของคุรุสภาที่จะเปิดระบบในวันที่ 15 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
“คุรุสภาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ขณะนี้ทางครุสภากำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและเร่งดำเนินการออกแนวปฏิบัติตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์คุรุสภา หรือสื่อออนไลน์ของทางคุรุสภา และขอให้ผู้เกี่ยวข้องอ่านและศึกษาข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ที่มีรายละเอียดในฉบับเต็ม เพราะเป็นเรื่องใหม่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามหรือรับคำปรึกษากับทางคุรุสภา” นางอมลวรรณกล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
อ้างอิง