หมายเหตุ…เนื่องในโอกาส “วันครู” 16 มกราคม 2566 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้จัดทำจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ เรื่อง “แก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ถึงสมาชิกรัฐสภา และเรื่อง “คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ฉบับที่ 1 เพื่อส่งถึงผู้เกี่ยวข้อง นำไปปรับปรุงแก้ไขตามข้อเรียกร้อง “มติชน” เห็นมีรายละเอียดน่าสนใจ จึงนำเสนอ
สำหรับจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ที่ ค.อ.ท.นำเสนอในวันครู มีสาระสำคัญดังนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 นั้น พบว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีข้อบกพร่องอีกมาก ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการนำสู่การปฏิบัติ จนทำให้ส่วนที่ดีของร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องล้มเหลวไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนทุกมิติ ไม่ร้อยรัด และขัดแย้งกันเอง เช่น ความบกพร่องในเนื้อหาสาระและรายละเอียดของกฎหมาย ที่ไม่ครอบคลุม สับสน ต้องตีความฟ้องร้องกันภายหลัง (มาตรา 4 นิยามศัพท์ไม่ครอบคลุม) เป็นกฎหมายที่เปิดเสรีให้บุพการี ผู้ปกครองจัดการศึกษาโดยอิสระ ไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งอาจเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และความเป็นเอกภาพของชาติไทย (มาตรา 11(2) มาตรา 13 วรรคสอง)
เป็นกฎหมายที่เอื้อให้เอกชน เข้ามาบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนของรัฐ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ และวิธีการใดควบคุม จะทำให้เอกชนเข้ามาแสวงหากำไรจากโรงเรียนของรัฐที่มีคุณภาพเพื่อเก็บค่าเล่าเรียนแพง (มาตรา 11 (4) (5)) เป็นกฎหมายที่มีความพยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานให้กับประชาชน เพื่อให้เข้าเรียนกับโรงเรียนเอกชนมากขึ้น (มาตรา 19 มาตรา 22 ของร่างเดิม ต้องไม่แปรญัตติกลับคืนมาอีก)
เป็นกฎหมายในอุดมคติที่ปฏิบัติไม่ได้ในสภาพจริง เช่น การกำหนดเป้าหมายเป็นรายละเอียดตามมาตรา 8 การกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารจัดการ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของสถานศึกษา และสภาพความเป็นจริงที่ยากต่อการปฏิบัติ (มาตรา 20 วรรคสี่ มาตรา 25 มาตรา 40 วรรคท้าย)
เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำ แบ่งแยกของข้าราชการครูและบุคลากรทางศึกษา (มาตรา 41) ซึ่งเป็นการทำลายหลักความยุติธรรมในการออก พ.ร.บ.และเป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Principle) ที่ต้องไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักความเสมอภาค (Equality) ที่ปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน แต่ปฏิบัติแตกต่างกัน และในร่างมาตรา 41 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 26 และมาตรา 27
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ยังเป็นกฎหมายที่ไม่ให้ความสำคัญในการดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และประโยชน์อื่นใด (มาตรา 42) เป็นกฎหมายที่ไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ (มาตรา 88)
เป็นกฎหมายที่รวบอำนาจการบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง Singel Command (มาตรา 106) ที่ย้อนแย้งกับหลักการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง เพราะ Singel Command เป็นรูปแบบโครงสร้างที่เอื้อต่อการทุจริตเชิงนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุด เอื้อต่อระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจบริหารแบบมีส่วนร่วม
และที่สำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาการอาชีวศึกษา จึงไม่มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.นี้ ทั้งที่ การศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพของคนเข้าสู่โลกของการแข่งขันในศตวรรษที่ 21
จาก ข้อบกพร่อง ทั้งหมดที่กล่าวมา ค.อ.ท.ที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรครูทั่วประเทศมากกว่า 300 องค์กร ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้โปรดพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
1.เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบารมีหยุดชี้นำ สั่งการ หรือวิธีการใดๆ ที่เป็นการบั่นทอนการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตของสมาชิกรัฐสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …
2.เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน หยุดแบ่งข้าง แบ่งขั้วทางการเมือง ขอให้ทุกท่านยืนเคียงข้างประชาชน โดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้ายของ พ.ร.บ.นี้ ที่ผลลัทธ์จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของชาติเป็นสำคัญ
3.เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.นี้ทุกข้อที่กล่าวมา ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดของการจัดการศึกษา
4.หากไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 ค.อ.ท.พร้อมองค์เครือข่ายครูทั่วประเทศ จะยกระดับการคัดค้าน โต้แย้งร่าง พ.ร.บ.นี้ให้รุนแรงมากขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทุกพรรคการเมือง ให้หยุดร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ให้ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 หากปล่อยให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านวาระที่ 3 ไปโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ ค.อ.ท.จะดำเนินการตามช่องทางรัฐธรรมนูญ และวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อหยุดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ ไม่ให้ออกประกาศใช้บังคับต่อไป และจะรวมพลังกับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ พิพากษา ส.ส.และพรรคการเมือง ที่ไม่ยอมแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมาย ในวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว มาเป็นรัฐบาล เพื่อมาแก้ไข พ.ร.บ.นี้ในรัฐบาลใหม่ในสมัยต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ดีที่สุด ให้เหมาะสมกับกฎหมายปฏิรูปประเทศต่อไป
ขณะที่แถลงการณ์ ค.อ.ท.เรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระบุว่า ตามที่ ค.อ.ท.ได้เรียกร้องให้ ส.ส.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้แก้ไข และเพิ่มเติม 12 เรื่องสำคัญ เพื่อให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อยกระดับสมรรถนะของผู้เรียนให้อยู่ในโลกแห่งความร่วมมือในอนาคตได้อย่างสมศักดิ์ศรี แต่จากการติดตามการพิจารณาของ ส.ส.เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2566 ได้พิจารณามาตรา 4 ซึ่งเป็นการให้ความหมายของนิยามคำสำคัญใน พ.ร.บ.แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่นำคำสำคัญหลายคำที่จำเป็นต้องให้ความหมายไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความ และความยุ่งยากต่อการปฏิบัติในอนาคต
มีการพิจารณาในมาตรา 8 เป้าหมายที่กำหนดสมรรถนะของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้มีสมรรถนะเดียวกันในแต่ละช่วงวัย โดยไม่คำนึงถึงทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล และทฤษฎีพหุปัญญา ซึ่งครูผู้สอนได้ใช้อยู่ในทุกวันนี้ ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลการพิจารณาทั้ง 2 มาตรา ที่ ค.อ.ท.เรียกร้องให้แก้ไข เพราะเป็นเรื่องสำคัญของการนำกฎหมายสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่รัฐสภาไม่ได้แก้ไข โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ดีกว่าของผู้แปรญัตติ และสงวนความเห็นไว้
ในขณะที่การตอบคำถามของผู้ที่เป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ.กลับตอบคำถามไม่ชัดเจน ไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควร เมื่อผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ การพิจารณาในมาตราอื่นๆ ที่ ค.อ.ท.เรียกร้อง จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไม่ได้รับการแก้ไขเช่นกัน จะทำให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายที่จะสร้างปัญหาในอนาคตให้กับผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบวิชาชีพครู และความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะเป็น ผลงานชิ้นโบดำ ของรัฐบาล และรัฐสภาชุดนี้
ดังนั้น เพื่อหยุดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ไม่ให้ออกไปใช้บังคับ ค.อ.ท.พร้อมองค์กรครูทั่วประเทศ จึงพร้อมใจกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการแต่งชุดดำไปปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากรัฐบาล และรัฐสภา ว่าจะไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสมัยประชุมนี้
หากรัฐบาล และรัฐสภา ยังดันทุรังจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ ค.อ.ท.พร้อมองค์กรครูทั่วประเทศ จะยกระดับการคัดค้านขั้นสูงสุดต่อไป ทั้งนี้ เพื่อรอให้รัฐบาล และรัฐสภาในสมัยหน้า นำร่าง พ.ร.บ.นี้ไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยให้คงส่วนที่ดีของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ แล้วไปปรับปรุงส่วนที่บกพร่องตามข้อเสนอ
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 16 มกราคม 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
วันครู 2566 ปม “พรบ.การศึกษาแห่งชาติ” ที่ทำให้ครูทั่วประเทศลุกขึ้นมาแต่งดำ
สภาล่ม! ทำให้ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. ยังไม่ผ่านการพิจารณา ท่ามกลางเสียงสะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาของร่างฉบับนี้ ทำให้ครูทั่วประเทศไทยต้องนัดแต่งดำจนถึงวันที่ 16 ม.ค. ที่เป็นวันครู 2566 ร่างกฎหมายนี้มีอะไรจึงต้องคัดค้าน
นัดแต่งดำถึงวันครู 2566
ธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ บางประเด็นไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา ผู้เรียน และวิชาชีพ กระทบอิสระทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอน รวมถึง ปิดกั้นศักยภาพผู้เรียน จึงไม่ควรที่จะเร่งรีบให้ร่างพรบ.การศึกษานี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ครูทั่วประเทศได้มีการนัดแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยร่างพรบ.การศึกษาฉบับนี้ มาตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.และจะดำเนินการจนถึงวันที่ 16 ม.ค. วันครู 2566
4 มาตรา พรบ.การศึกษา กระทบครู
ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ มี 4 มาตราที่น่ากังวล
- มาตรา 3 เดิมคุรุสภามีบอร์ดบริหารมีผู้แทนจากวิชาชีพครูแต่คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 ทำให้คุรุสภาไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครูมาเป็นผู้แทน แต่ปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสูงสูดจาก 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
- มาตรา 40 วรรค 2 เงินค่าตอบแทนวิทยฐานะทำให้บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศน์ จะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ทั้งที่เป็นสิทธิที่เคยได้รับมาก่อน
- มาตรา 42 เกี่ยวกับคำสั่งคสช. เป็นการออกแบบสภาวิชาชีพครูใหม่ เดิมคุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพ แต่เปลี่ยนใหม่ให้คุรุสภาเป็นองค์กรของครู เมื่อกฏหมายแม่เป็นเช่นนี้ ก็ส่งผลให้ พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาตกไป
- มาตรา 106 การให้อำนาจ รัฐมนตรี ปลัดศธ. เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการศธ. หมายความว่า จะใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง ย้อนแย้งกับโลกความจริงที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัญหามาตรา 8 ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ
ขณะที่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก Kunthida Rungruengkiat – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส่วนหนึ่งว่า
ไม่เห็นด้วยต่อ มาตรา 8 มีปัญหาทั้งการล็อคสเป็คผู้เรียน และรวบอำนาจการตีความมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควร
มีลักษณะบังคับมากกว่าฉบับปี 2542 อย่างชัดเจน เช่น ความยาวที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 27 หน้า เป็น 46 หน้า และหากนับคำว่า “ต้อง” ในร่างนี้มีถึง 130 แห่ง ในขณะที่ร่างปี 2542 มีคำว่า “ต้อง” เพียง 44 แห่ง
มาตรา 8 ถือเป็นหัวใจของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่กลับจะสร้างปัญหามากมายตามมา โดยมาตรา 8 กำหนดว่า “ในการพัฒนา ฝึกฝน บ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา 7 ต้องดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัย”
ขอนำเสนอประเด็นปัญหา 3 ประการ
มาตรา 8 ถูกเขียนขึ้นอย่างเป็นนามธรรมโดยมีลักษณะบังคับ มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายตัดสินใจทุกอย่าง เช่น
- เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งปีในช่วงวัยที่ 1 ต้องได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์
- ช่วงวัยที่ห้าเมื่ออายุเกินสิบสองถึงสิบห้าปี ต้องสามารถสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์
- ผู้เรียนช่วงวัยที่ 6 ต้องถูก ฝึกฝนให้ดูแลตนเองได้อย่างสมบูรณ์ หน้าตาที่เป็นรูปธรรมของความสมบูรณ์คืออะไร คณะกรรมการนโยบายควรเป็นผู้ผูกขาดเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่
- ช่วงวัยที่สามอายุสามถึงหกปี “รับรู้ถึงความงามทางศิลปะ”
- ช่วงวัยที่สี่อายุหกปี ถึงสิบสองปี “ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือภาคภูมิใจในความเป็นไทย”
ความรู้สึกจะถูกตีความอย่างไร เกณฑ์เชิงคุณภาพหรือปริมาณบนความนามธรรมเช่นนี้จะวัดอย่างไร ใครบ้างต้องรับผิดชอบหากปฏิบัติจริงไม่ได้ และหากต้องวัดประเมิน จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันอนาคต
เป้าหมายทางการจัดการศึกษา ควรอ้างอิงมาจากทฤษฎีทางการศึกษา เช่น ทั้งตระหนักและภูมิใจ เป็นความรู้สึกที่วัดประเมินไม่ได้ แต่ถ้าใช้ เข้าใจ ที่เป็นหนึ่งในทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom หรือ Bloom taxonomy ก็จะสามารถทำให้ผู้ปฏิบัตินำไปใช้งานได้จริง
มาตรา 8 ยังเป็นการจับเด็กยัดใส่กล่องอายุตามกรอบที่เหมือนกันไปหมด
ระบุรายละเอียดสารพัด ทั้งทักษะและสมรรถนะที่อาจเป็นไปตามทฤษฎีพัฒนาการตามช่วงวัย แต่ก็ระบุเนื้อหาความรู้ที่ต้องรู้เอาไว้ด้วย ราวกับว่ามาตรานี้เป็นเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลาง ที่เป็น guideline ในการจัดการศึกษา ไม่ใช่กฎหมายที่มีสภาพบังคับยาวเหยียดถึงสามหน้ากระดาษ
มาตรา 8 ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ และเป็นกฎหมายที่ปราศจากแว่นที่มองเห็นว่ามนุษย์แตกต่างหลากหลายและมีพลวัต นำมาสู่ปัญหาถัดมา
ความลักลั่นย้อนแย้งของมาตรา 8 ส่งผลต่อมาตราอื่นและกฎหมายลูกที่จะตามมาอีก โดยปรากฎอยู่ในร่างนี้อีกเกือบ 100 กว่าครั้งในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่น
ลักลั่น มาตรา 10 ระบุว่า “การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 แต่อาจเปลี่ยนแปลงระยะเวลาและเป้าหมายของแต่ละช่วงวัยให้เหมาะสมกับอายุของผู้เรียนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษากำหนด”
แสดงให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้รู้ดีว่าต้องสร้างความยืดหยุ่นในมาตราที่เกี่ยวกับผู้เรียนที่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องการควบคุมอย่างเคร่งครัด จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งอาจใช้เวลานานและไม่คล่องตัวเท่าที่ควรจะเป็น
มาตรา 57-66 ว่าด้วยหลักสูตรและการประเมิน ก็อ้างอิงจากมาตรา 8 โดยต้องจัดทำต้นแบบที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการหรือเหมาะสมกับผู้เรียนตามบริบทที่แตกต่างกัน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทว่ากรอบตามมาตรา 8 อันละเอียดเข้มงวด ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความหลากหลายในตัวเอง ซ้ำผู้ปฏิบัติงานยังต้องทำตามหลักสูตรต้นแบบและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก
ขอให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาการลงมติในมาตรานี้อย่างถี่ถ้วน โดยการปรับลดรายละเอียดของมาตรานี้ และปรับช่วงวัยเป็นช่วงชั้นโดยไม่ยึดตามอายุผู้เรียนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดการศึกษาตามที่ดิฉันได้เสนอความเห็นเอาไว้
ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติลิดรอนสิทธิครู
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2566 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย ( ค.อ.ท.) ออกแถลงการณ์เรื่อง การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ตอนหนึ่งระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้ลิดรอนสิทธิประโยชน์ขั้นฐานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกตำแหน่ง
- ประเด็นลิดรอนที่ 1จะเกิดผลกระทบทันที เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับได้รับแต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือ เงินค่าตอบแทน ความหมายคือ ถ้าได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน หรือถ้าไม่ได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะได้แต่เงินค่าตอบแทน จะไม่ได้เงินวิทยฐานะ
- ประเด็นลิดรอนที่ 2 อาจเกิดผลกระทบเมื่อออกกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในวรรคสามและวรรคท้ายของมาตรา 41 มีผลใช้บังคับกล่าวคือ วรรคสาม “ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และครูอาจมีระดับ ตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น ”
- ประเด็นลิดรอน ที่ 3 คือมาตรา 107 ที่ไม่กำหนดให้ครูที่ดำรงในตำแหน่งอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ อื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ในวันก่อนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และประโยชน์ตอบแทน
เครือข่ายองค์กรวิชำชีพครูไทย ( ค.อ.ท.) มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ 15 ม.ค. 2566
ข่าวเกี่ยวกัน
‘ตรีนุช’ เชื่อไม่มีการเมืองเอี่ยวล้ม พ.ร.บ.การศึกษาฯ
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งขึ้นอยู่กับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในนามของ ศธ.ก็ให้ข้อสังเกตบางประเด็น 4 ประเด็น ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ดังนี้
- ประเด็นที่1 การจัดการศึกษาโดยผู้ปกครอง (Home School) ในมาตรา 13 ควรให้ ศธ.ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล ตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
- ประเด็นที่2 ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ในมาตรา 20 ควรให้สถานศึกษาเฉพาะสังกัด ศธ.เป็นนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของรัฐในแต่ละสังกัด
- ประเด็นที่3 การสรรหาและคุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ในมาตรา 40 นั้น ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากเคยเป็นครูและรองผู้บริหารแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องบริหารการศึกษา และให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดแนวทางการสรรหาและพัฒนาผู้บริหาร เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีศักยภาพและไม่ทำให้เกิดภาระแก่คณะกรรมการสถานศึกษาเกินสมควร และ
- ประเด็นที่4 ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะ ควรกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 41 เพื่อมีความชัดเจนว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เคยได้รับเงินวิทยฐานะอยู่แล้วในปัจจุบันยังคงได้เงินวิทยฐานะเช่นเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันครูปีนี้มีครูแต่งชุดดำค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า คิดว่าครูที่ออกมาร้อง อาจจะมีความกังวลอยู่ ยอมรับว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีรายละเอียดจำนวนมาก ดังนั้นหน่วยปฏิบัติอาจจะมีข้อกังวลได้ จึงสะท้อนและสื่อสารให้สภาได้เห็น ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาที่จะพิจารณา ในส่วนของ ศธ.ยังยืนที่จะเสนอ 4 ประเด็นที่ข้อห่วงใยให้สภาพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ล่มหรือไม่ น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า มองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดาบ้างที่มีเสียงคัดค้าน ส่วน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะพิจารณาเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ตนคิดว่าขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐสภา