สรุปแนวคิดปฏิรูปการศึกษาให้ก้าวทันโลกยุค 5.0 จากเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก “Forum for World Education 2022” ที่ สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา บริษัทระดับโลก อาทิ กูเกิ้ล แอมะซอน และเครือซีพี โดยซีอีโอเครือซีพี ชี้โลกก้าวสู่ยุค 5.0 ต้องพัฒนาการศึกษาให้ก้าวทัน ต้องดึงดูดคนเก่งเข้ามาสู่ภาคการศึกษา ขณะที่กูเกิ้ลเร่งสร้างแพลตฟอร์มให้เข้าถึงข้อมูล ส่วนแอมะซอนเสนอเติมเต็มทักษะด้านเทคโนโลยี โคเซ็นจากญี่ปุ่นเปิดพิมพ์เขียวทักษะด้านอาชีพควบคู่เทคโนโลยี เน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ หอการค้าเยอรมัน-ไทยแชร์รูปแบบการศึกษาในเยอรมัน จัดการเรียนในสถาบันการศึกษา 30% และ การเรียนรู้ การฝึกงาน และการทำงานด้วยการลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 70% โดยใช้เวลาในการเรียนไม่เกิน 5 ปี ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก ย้ำเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการศึกษายังตามไม่ทัน แรงงานมีทักษะไม่ตรงความต้องการภาคธุรกิจ
สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทโลกทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจัดการประชุมสัมมนา ขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในปีนี้ได้จัดประชุม Forum for World Education 2022 ขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยเชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุม พร้อมกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 400 คน เพื่อระดมความเห็นในการออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกยุค 5.0 แรงงานกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติหรือ AI ในขณะที่ข้อมูลได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีค่ามากกว่าเงิน แต่ระบบการศึกษาของไทยยังคงอยู่ที่ยุค 2.0 เรายังสอนให้คนออกมาทำงานในโรงงาน ทั้ง ๆ ที่แรงงานกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติหรือ AI ดังนั้นในยุค 5.0 เราต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการที่จะทำสิ่งเหล่านี้
“ทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ นั่นก็คือจะต้องพัฒนาคน และสร้างทัศนคติของคน ด้วยการสร้างให้คนเป็นเถ้าแก่ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นทุกแง่มุมของธุรกิจแบบเต็มองค์รวม มีความรู้ที่ถ้วนทั่ว มองเห็นทุกแง่มุมของโลก เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรุ่นใหม่ เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนที่สร้างโลกใหม่ของเรา ดังนั้นระบบการศึกษาของเราจะต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อที่จะได้ก้าวตามทันโลก อุตสาหกรรม และธุรกิจในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ซีอีโอ เครือซีพี ยังกล่าวต่อไปว่า “คนรุ่นใหม่น่าจะเรียนจบตั้งแต่อายุ 18 ปี แล้วเขาก็น่าที่จะรู้จักเส้นทางของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ทำอาชีพที่ตัวเองชอบได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าจะทำได้แบบนั้นได้ต้องมีการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนทั้งในเรื่องของการที่จะทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในการศึกษา รวมถึงทำให้เขาได้มีโอกาสในการทำงานไปพร้อม ๆ กัน และการที่จะสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถ ครูถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะว่าความสามารถและทัศนคติของครู มีความสำคัญพอๆ กับทักษะในการสอน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานในแวดวงการศึกษาได้ พร้อมที่จะสอน พร้อมที่จะเป็นครู พร้อมที่จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ เด็กที่เป็นเยาวชนของเรา” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้เน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อให้พร้อมกับมือกับโลกในยุคอนาคตว่า “ในมุมมองของภาคเอกชน เราไม่อยากได้คนที่จะมารับคำสั่งอย่างเดียว เราอยากได้คนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด คนที่กล้าที่จะถามคำถาม คนที่อยากจะทำงานวิจัยและค้นคว้าเพื่อความรู้เพิ่มขึ้น คนที่อยากจะลงมือทำงาน คนที่พร้อมทำงานเป็นทีม คนที่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ด้วยการใช้เหตุและผล คนพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนา
ดังนั้นสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องทำ คือไม่เน้นแค่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ แต่ควรจะสอนเยาวชนของเราให้สามารถที่จะรับมือกับความท้าทายทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามา และสามารถที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลกใบนี้ได้มากขึ้น” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวสรุป
มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และนวัตกรรมสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกได้ รวมถึงการศึกษา ดังนั้นสิ่งที่กูเกิ้ลทำคือ การทำให้คนเข้าถึงข้อมูลต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้เองจากที่บ้าน
“เราพยายามอย่างมากในการสร้างการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มของเรา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการทำงาน ที่สามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน โดยมีมาตรการเข้าถึงความปลอดภัยด้านข้อมูล ซึ่งเป็นความท้าทายของกูเกิ้ลที่จะให้เกิดการใช้งานได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น”
มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน กล่าวว่าในยุคที่คำว่าดิจิทัลได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเข้าถึงในเรื่องต่างๆ อย่างมากมาย การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จใน 10 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีผู้คนมากถึง 86 ล้านคนต้องใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกอบรม แต่การเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้คนในจำนวนนี้มีถึง 2 ใน 3 คนที่ยังขาดความมั่นใจและขาดทักษะในเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในการที่จะมาผสมผสานคนทั้งสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ด้วยการเติมเต็มทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนและธุรกิจไว้ด้วยกัน”
การที่จะสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับแต่ละประเทศได้นั้น สิ่งสำคัญก็คือการพัฒนาระบบการศึกษา เพราะว่าคนคือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดย มร.ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Mr.Michael Bloomberg) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 3 สมัย กล่าวว่า หากต้องการทราบวิธีการแก้ปัญหาของสังคม เราต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการศึกษาด้วยดีมาตลอด แต่ในยุคนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมากที่สุดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจึงตามไม่ทัน
“ปัญหาที่สำคัญของอเมริกาคือ มีงานจำนวนมาก แต่กลับไม่มีแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ของภาคธุรกิจ และเรามีคนเก่งไม่มากพอที่จะฉุดเศรษฐกิจของอเมริกาให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เราจึงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบการคัดเลือกของครูให้ดีขึ้น มีการเพิ่มเงินเดือนครูถึง 43% ส่งเสริมศักยภาพให้ครูออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เห็นผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”
แนวทางในการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดรับกับโลกและเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงาน โดยผู้นำธุรกิจจากประเทศต่างๆ เห็นตรงกันว่า ควรลดระยะเวลาการเรียนลง เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด
มร.อินูอูเอะ มิตซึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru) กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การสร้างความสำเร็จของระบบศึกษาที่ญี่ปุ่นนั้น จะเน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะในเรื่องเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการฝึกอบรม และสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับชาติ 51 แห่ง วิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง และ วิทยาลัยของเอกชนอีก 3 แห่ง โดยให้ทุนเรียนกับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนถึงระดับปริญญาเอก
“โคเซ็นเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนตั้งแต่จบมัธยมต้น เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรม 5 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 15 จนถึงอายุ 21 ปี โดยอาจารย์ผู้สอนจะต้องจบปริญญาเอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทุกคน โดยจะเรียนหลักสูตรพื้นฐาน 60% เรียนเฉพาะทางวิศวกรรมอีก 40% เสริมด้วยทักษะการใช้ชีวิต การสื่อสาร และนวัตกรรมไอทีต่างๆ ซึ่ง เราต้องการสร้างวิศวกรที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเชื่อมั่นว่า พลังของคนรุ่นใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้”มร.อินูอูเอะ มิตซึเทรุ กล่าว
สำหรับการศึกษาที่เยอรมัน มร.มาร์คุส ฮอฟฟ์มันน์ (Mr.Markus Hoffman) ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาความเป็นเลิศคู่เยอรมัน-ไทย(GTDEE) หอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า ที่ประเทศเยอรมันมีการจัดการระบบการศึกษาแบบ VET(Vocational Education and Training) ด้วยการจัดการเรียนในสถาบันการศึกษา 30% และ การเรียนรู้ การฝึกงาน และการทำงานด้วยการลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 70% โดยใช้เวลาในการเรียนไม่เกิน 5 ปี เยาวชนเหล่านี้ก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม”
เปิดแนวคิดพัฒนาการศึกษาจากบริษัทชั้นนำระดับโลก CEO เครือซีพี ชี้ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาไทย-โลก ให้ก้าวทันโลกยุค 5.0 กูเกิ้ล สนับสนุนขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล แอมะซอนเสนอเร่งเครื่องทักษะเทคโนโลยี โคเซ็นจากญี่ปุ่นเปิดพิมพ์เขียวทักษะด้านอาชีพควบคู่เทคโนโลยี ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก จากสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการศึกษายังตามไม่ทัน แรงงานมีทักษะไม่ตรงความต้องการภาคธุรกิจ หอการค้าเยอรมัน-ไทยโชว์รูปแบบการศึกษาเน้นเรียน 30% ฝึกงาน ลงมือปฏิบัติ 70%
ที่มา ; ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 ธันวาคม 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
เสียงจากเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ชี้แนะประเทศไทยก่อนเดินไปสู่ยุค 5.0
ไม่ว่าจะโลกธุรกิจหรือโลกอุตสาหกรรมทุกอย่างล้วนเติบโตได้ด้วยความรู้ และการทำงานสอดคล้องกับนวัตกรรมการศึกษา
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดเผยระหว่างการจัดงาน “Forum for World Education 2022” ที่สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” และเป็นเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกว่า เทรนด์ของโลกจะเป็นอย่างนี้ต่อไป นั่นทำให้ตัวเขาเองก็เลือกที่จะสร้างสถาบันที่จะสร้างคนทำงาน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย หรือที่เขายกตัวอย่างสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นสถาบันสร้างผู้นำหรือ Start Up ที่มีคุณภาพ แต่เมื่อมองในเชิงโครงสร้าง การศึกษาไทยก็ยังติดขัดอยู่ด้วยเหตุผลบางประการ
“จริงๆ คนไทยไม่ได้แพ้ใคร แต่การศึกษา ผมคิดว่าเรายังอยู่ในรูปแบบเก่า เรายังเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้ว่าโลกต้องการคนชนิดไหน ยุค 4.0 เราต้องสร้างนักศึกษาประเภทไหนให้เหมาะสม ผมว่าในการเรียนสายธุรกิจน่าจะเรียนไป ทำงานไป จะได้ความรู้เร็ว และความเข้าใจ ผมอยากจะพูดเรื่องปริญญากับปัญญา ปริญญาใครๆ ก็เรียนได้ถ้าความจำดี ขยัน ก็เรียนได้แล้ว แต่ปัญญาไม่ใช่ ปัญญาไม่ได้ทุกคน มันมีเรื่องอีกเยอะ ต้องทุ่มเท ต้องลงลึก ต้องเรียนรู้ ต้องใจกว้าง ต้องมีความอดทน ต้องมีความพยายาม เพราะต้องทำของจริง ไม่ใช่เรียน ต้องไปเจออุปสรรค แล้วคุณแก้อย่างไร มันไม่ใช่เรียน แล้วปัญญาต้องเกิดจากการกระทำ ทำแล้วล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ก็เป็นปัญญาได้ สำเร็จก็เป็นปัญญา ปริญญาเราเรียนไป คะแนนสูงหรือคะแนนต่ำ สอบผ่านก็ถือว่าจบ แต่ปัญญาไม่ใช่ ต้องได้ความรู้จากการกระทำที่แท้จริง จะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ ก็เป็นบทเรียนที่เราไม่ทำผิดอีก ถ้าผ่านงานยิ่งเยอะเท่าไร ยิ่งล้มเหลวก็เป็นปัญญา สำเร็จก็เป็นปัญญา”
นอกจากตัวผู้เรียนรู้เองแล้ว ระบบการศึกษายังมีฟันเฟืองสำคัญอยู่คือ “ครู” และที่ผ่านมาครูที่ใครๆ ก็เปรียบเป็นเรือจ้าง ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง ทั้งด้วยความเหนื่อยยากในอาชีพ หรือปัญหาซ้ำซากที่เกิดกับวงการครู เช่น เรื่องหนี้สิน หรือสวัสดิการที่น้อยนิด เป็นต้น
เจ้าสัวธนินท์ พูดถึงเรื่องบุคลากรสำคัญนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดค่าตอบแทนสูงในวิชาชีพนี้ อย่างน้อยต้องสมน้ำสมเนื้อ
“เราต้องทำให้เขามีความสุข ให้เขาสอนโดยไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นหนี้ รายได้น้อยไป คือ เราต้องคัดคนที่เหมาะสม แล้วกล้าให้รายได้เขาอย่างพอใจอย่างยิ่ง แล้วไม่ใช่จะมาเป็นครูง่ายๆ ต้องเป็นคนเก่งจริงๆ ต้องรักการเป็นครู ต้องมีจิตใจที่อยากจะสอน อยากจะพัฒนาคน สอนคน มีความจริงใจ ต้องมีความสุข และมีรายได้ที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน แล้วถ้าครูยังมีหนี้สิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วครูจะไปสอนคนได้อย่างไร ตอนนี้ครูเรามีเหลือแล้วนะ เพราะเด็กเกิดน้อย บางโรงเรียนต้องปิดแล้วนะเพราะไม่มีคนไปเรียน เมื่อก่อนเราต้องสร้างโรงเรียนเพื่อให้ทันเด็กที่เกิดใหม่ ถ้าครูเก่งไม่พอ เอาครูที่เก่งที่สุดสอนบนออนไลน์เลยครับ แล้วก็ให้ครูที่อยู่ในห้องเรียน เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน แล้วต้องเอาใจใส่นักเรียน สนับสนุนนักเรียนที่อยู่ในห้อง ให้ครูที่เก่งที่สุดอัดเป็นวิดีโอ ถ้าไม่เข้าใจก็เปิดอีก เปิดจนเข้าใจ แต่อย่างไรนักเรียนต้องไม่อยู่บ้านนะ ต้องมาเจอกัน มาสังสรรค์กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ได้รู้จักกัน นี่คือได้เรียนรู้วิถีชีวิต”
นอกจากรัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ธนินท์เล่าว่าซีพีพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด จนถึงปัจจุบันมีพนักงาน 400,000 กว่าคน ทำให้เขาเล็งเห็นว่ายิ่งคนไทยมีการศึกษาดี เท่าทันเทคโนโลยี ก็จะเป็นผลดีต่อองค์กร
“ผมอยากให้เรียนรู้ว่าทั่วโลกสร้างคนรุ่นใหม่อย่างไร เราเอาข้อดีของหลายๆ ประเทศ แล้วมากำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทย ผมอยากแนะนำว่ารัฐบาลอย่าไปคิดเอาเอง มีตัวอย่างในโลกนี้ และแต่ละประเทศมีทีเด็ดของประเทศตัวเอง เราก็เอามาเป็นทีเด็ดของประเทศไทย เหมือนทำธุรกิจ ผมยอมเรียนรู้จากประเทศที่เขาเหนือกว่า เราก็เอาความเก่งของแต่ละประเทศมาประยุกต์เป็นเทคโนโลยีของซีพี เอามาต่อยอดทำให้ดีกว่า”
หลังจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องบอบช้ำจากอุปสรรคปัญหาใหญ่ทั้งโรคระบาดไปจนถึงสถาวะเศรษฐกิจถดถอย ความหวังของทุกคนในปีหน้าจึงไม่พ้นให้อะไรต่อมิอะไรดีขึ้น แต่หลายความคิดเห็นกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ อาจต้องมองข้ามไปยังปี 2567 กันเลย ทว่าในทางตรงกันข้าม มุมมองจาก เจ้าสัวธนินท์ ถึงเรื่องเศรษฐกิจที่หลายคนแทบจะสิ้นหวัง กลับย้อนศร สวนทาง นัยหนึ่งนี่อาจจุดประกายความหวังให้หลายคนพร้อมเดินหน้าต่อ เพียงแต่ปัจจัยต่างๆ ทั้งจากรัฐ เอกชน ไปจนถึงเชิงโครงสร้างจะพร้อมรับโอกาสหรือพร้อมจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสหรือไม่
“ผมเคยพูดว่าถ้าโควิดหยุดเมื่อไร ทุกอย่างจะฟื้นอย่างเร็ว เหตุผลเพราะว่าอย่างไรสถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ไม่ได้ถูกทำลายเหมือนสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงน่าจะสู่สภาวะปกติในไม่ช้า แล้วยังเจอการเมืองที่เราคาดไม่ถึง เจอโลกร้อน น้ำท่วม ปัญหาร้อน ปัญหาหนาว เรื่องสงครามรบกัน เลยมาทับถมอยู่ แต่กลายเป็นว่าทำให้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจอาเซียน และสนใจประเทศไทย น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ แต่ก็อยู่ที่รัฐบาลไทย ไม่ว่าจะชุดเดิมหรือชุดใหม่ โอกาสแบบนี้อาจจะพันปีเจอครั้ง ไม่ควรปล่อยผ่าน ฝนตกมีอะไรไปรองรับน้ำ หรือปล่อยน้ำไหลออกไปเฉยๆ
ที่มีคนบอกว่าปีหน้าเป็นปีเผาจริง ผมว่าไม่ใช่ เผาจริงคือ ปีนี้ เพราะเราเริ่มเปิดประเทศ แล้วคนติดง่ายแต่ก็หายง่าย ไม่อันตรายมาก แต่จะดีแค่ไหน ดีมากหรือดีน้อย อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ทั่วโลกมาลงทุนที่ประเทศเรา”
เมื่อ “เจ้าสัวธนินท์” คาดการณ์ว่าปีหน้าจะเป็นปีทอง ก็ได้เวลาของคนทำธุรกิจ นักลงทุน หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่เป็นหัวใจสำคัญที่อาจจะชี้ชะตาว่าปีหน้าจะรุ่งหรือร่วงกันทั้งกระดาน
เขากล่าวถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าจะเป็นโครงการที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เพราะรถไฟความเร็วสูงจึงสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเชื่อมโยงถึงลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางที่แท้จริง เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่กลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ กำลังพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นโยบายการให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิน ที่มีการแสดงความเห็นในวงกว้างช่วงที่ผ่านมา ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สามารถเป็นพื้นที่ ที่แบ่งสรรให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อได้ โดยมีที่ดินมากเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในพื้นที่ รวมถึงการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเกี่ยวกัน
‘ธนินท์’ ชี้ประเทศเติบโตได้ขึ้นกับการศึกษา แนะเลิกผลิตคนแบบไซโล
1 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประชุมสัมมนา “Forum for World Education 2022” ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” (Shaping The Future of Education To Match Global Economic Trends) ขึ้น โดยสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และโรงเรียนนานาชาติคองคอร์เดียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้เชิญผู้นำด้านธุรกิจระดับโลก ที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคน และการศึกษาเข้าร่วมประชุมพร้อมกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่างๆ กว่า 400 คน เพื่อระดมความเห็นในการออกแบบ รูปแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในทุกประเทศทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา เตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ให้แข็งแกร่ง สร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกยุค 5.0 ต่อไป
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า หัวข้อที่สำคัญของการประชุมในวันนี้คือการศึกษา และการสร้างคน ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้เท่าไรขึ้นอยู่กับการศึกษา ซึ่งการศึกษาก็คือ การพัฒนาคน องค์กรที่ยิ่งใหญ่ถ้าไม่สร้างผู้นำที่มีความรู้ในหลายๆ เรื่องก็จะไม่มีคำว่า CEO ในอดีตเรามักสร้างคนให้มีความรู้แบบไซโลเพราะกลัวการถูกซื้อตัวไป แต่ซีพีเราใช้คำพูดเก่าเอามาใช้กับยุคใหม่คือ เรากำลังสร้างเถ้าแก่ เพราะเถ้าแก่ต้องรู้ทุกเรื่องกำไร บัญชี ขาดทุน บุคคล ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ แล้วไม่กลัวว่าเขาจะออกจากเราไปที่อื่น เพราะถือว่าเราได้สร้างคนให้กับสังคม และประเทศชาติซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“ถ้าเราจะสร้างคนให้เป็นผู้นำ เราจะต้องสร้างผู้นำที่มีความกตัญญู รู้จักการให้ รู้จักเรียนรู้ รู้จักเสียเปรียบ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจะไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดีได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มี 6 ค่านิยมที่สำคัญคือ 3 ประโยชน์ นวัตกรรม เร็ว และมีคุณภาพ ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีความกตัญญู กตัญญูเป็นอันดับหนึ่ง จะเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดี รู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน กตัญญูกับพ่อ แม่ รักครอบครัว รักองค์กรบริษัท รักพนักงาน เขาจึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้”
นอกจากนี้ในการประชุม ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังกล่าวถึงระบบการศึกษา และธุรกิจในโลกยุคใหม่ว่า ระบบการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยน ต้องพยายามสร้างคนให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าการเรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย เพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาสำคัญไม่แพ้ใบปริญญา
“วันนี้เรื่องใหม่ๆ เราต้องให้คนรุ่นใหม่ทำ ไม่ต้องกลัวทำผิด ผิดคือ ครูถือเป็นค่าเล่าเรียน ถ้าเรื่องธุรกิจเด็กสมัยนี้เขาฉลาดกว่ายุคของเรา ซึ่งในยุคก่อนต้องอายุมากกว่า 50 ถึงจะขึ้นเป็นผู้นำได้ แต่ยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ระบบการศึกษาวันนี้เด็กอายุ 18 ปี ควรจะต้องจบมหาวิทยาลัยได้แล้ว เพราะเด็กในวัยนี้พวกเขามีพลังมหาศาล อย่าเอาพลังของเขาไปขังไว้ในโรงเรียน เราอยู่ในยุคของคนแก่ดังนั้นจึงต้องสร้างคนพัฒนาคนออกมาทำงานให้เร็วที่สุด วันนี้แค่เรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำงานไปด้วย ปริญญากับปัญญาแตกต่างกัน ปัญญาเกิดจากการลงมือทำ อดทน ล้มเหลว เรียนรู้ แต่ปริญญาเป็นเรื่องของความจำ ดังนั้นปัญญาจึงมีความสำคัญ เริ่มทำให้เร็ว กล้าที่จะลองผิดลองถูก โดยมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ ชี้แนะได้แต่ห้ามชี้นำ ตัวขององค์กรเองก็ต้องปรับตัว ลดขั้นตอน ลดขนาดไซโล และลำดับขั้น ยุคสมัยนี้องค์กรต้องแบนลง และในขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้ Software เข้ามาติดตามให้รู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทุกวัน ซึ่งยุคนี้เป็นยุคสมัยที่ต้องเร็ว และต้องมีคุณภาพ และต้องทำของยากให้เป็นของง่าย” นายธนินท์ เจียรวนนท์ ระบุ
ดร.ตัน ซี เล็ง (Dr.Tan See Leng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การประชุม FWE ในวันนี้ เป็นการเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์โลกที่ซับซ้อน และผันผวนมากขึ้น ประเทศสิงคโปร์ เน้นการพัฒนากำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย เน้นการพัฒนาค่านิยม และขีดความสามารถของศตวรรษที่ 21 ความคิดเชิงวิพากษ์ ความรู้เรื่องโลก ทักษะ และความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ตรงประเด็นอย่างมาก
“ปัญหา Covid-19 ทำให้เราเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทำให้กำลังคนของเราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ นี่คือ เหตุผลที่สิงคโปร์เดินหน้าลงทุนในเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือคนที่ต้องถูกออกจากงานให้ได้มากที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาไม่ย่อท้อ มีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงมีองค์กร ด้วยการฝึกฝน เสริมทักษะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปร่วมกันในอนาคต”
มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ (Mr.Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD กล่าวว่า จากการศึกษาระบบ และผลลัพธ์ของการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งเด็ก และครูจะส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทัศนคติของผู้เรียน ถ้าเด็กนักเรียนไม่กลัวที่จะผิดพลาด กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะเสี่ยง ก็จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งถ้าระบบการศึกษาไม่เอื้อในการสร้างภาวะแวดล้อมเช่นนี้ให้เกิด จะไม่สามารถสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องอะไรได้เลย ดังนั้นทัศนคติในการเรียนรู้จึงมีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
“เราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าให้เขาได้เจอเส้นทางของเขา เพราะถ้าเราให้การศึกษาที่เป็นทั้งวิชาการ และวิชาชีพ เด็กแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสสำรวจ ค้นหาความเก่ง ความถนัดของตัวเอง พวกเขาก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน นอกจากนี้ครูยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กสามารถเกิดเรียนรู้ และทำให้มีระบบการศึกษาที่แข็งแรง แต่ปัญหา และความท้าทายคือ เรามีครูที่มีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอ ทำอย่างไรที่จะทำให้ครูสมัยใหม่เป็นครูที่เป็นมากกว่าครู เป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้ส่งเสริมที่ดี ทำอย่างไรให้ได้คนเก่ง คนดี ได้มาเป็นครูในระบบให้มากขึ้น ทำอย่างไรที่แต่ละประเทศจะลงทุนในตัวครูให้ถูกด้าน ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญของการศึกษาในช่วงทศวรรษ 21”
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ
เกี่ยวข้องกัน
ฟังไป เครียดไป เรื่องการศึกษาไทย
ผมมาร่วมงานฟอรัมการศึกษาโลก Forum for World Enducation FWE 2022 ที่ระดมผู้นำการศึกษาระดับโลก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกัน โดย ทุกคน พูดตรงกัน “การศึกษาสำคัญที่สุด” แต่ความท้าทายเรื่องการศึกษายุคปัจจุบัน ยังมีปัญหามากที่สุด เช่นกัน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ (พูดจนเป็นวาทกรรม) ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น และเรื่องคุณภาพก็ยังเป็นเรื่องที่แก้กันไม่จบ
ผู้เชี่ยวชาญจาก OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ชาติเจริญร่วมกันลงขัน เพื่อศึกษาว่า “ฉันจะพัฒนาคนของฉัน เศรษฐกิจของฉัน อย่างไร ถึงจะพัฒนาขึ้นอีก” ดร.แอนเดรีย ชเลเชอร์ ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ เปิดประเด็นวิเคราะห์การศึกษาโลก และการศึกษาไทยไว้ อย่างน่าสนใจ ด้วยชุดข้อมูลที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งในโลก
ผมขอแชร์แบบสรุปง่ายๆ สไตล์สุชัชวีร์นะครับ
โรงเรียนไทยส่วนใหญ่ ได้ทรัพยากรน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโลกพัฒนา ทั้งเรื่องจำนวนครู เรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน และงบประมาณ ซึ่งตรงกับข้อมูลของธนาคารโลกที่ผมไปศึกษามา
- จำนวนนักเรียนในชั้นเรียน ต่อครู “มีผล แต่มีผลน้อยกว่าความสามารถและทักษะการสอนของครู” พูดให้เข้าใจง่ายว่า หากครูสอนเก่ง นักเรียนมากแค่ไหนก็โอเค แต่แม้มีเด็กไม่กี่คน หากครูไม่มีทักษะ เด็กไม่กี่คนเนี่ย ก็ลำบาก
- โรงเรียนใกล้บ้านดีแน่ ประหยัดค่าเดินทาง ประหยัดเวลา แต่ข้อมูลไม่การันตีว่า เด็กเรียนใกล้บ้าน แล้วจะเก่งกว่า เรียนไกลบ้านนะครับ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละโรงเรียนมากกว่า แปลกใจเหมือนกัน แสดงว่าหากจะให้เด็กได้ดี ก็จำเป็นต้องทำโรงเรียนใกล้บ้านให้ดี ก็เท่านั้นเอง
- เวลาเรียน ยิ่งมากยิ่งแย่แฮะ งงไปเลย แสดงว่าการอัดวิชาการเข้าไป ถึงจุดหนึ่งชีวิตสู้กลับ คือ นอกจากไม่ได้ความรู้เพิ่ม แถมเบื่อ ต่อต้านอีก เหนื่อยเลย
- ทัศนคติที่ดี คือ เคล็ดลับของความสำเร็จในการเรียนทุกระดับ หรือ หากเรียนมีความสุข ก็เรียนได้ดี ที่น่าสนใจ คือ ความกดดันในการเรียนไม่ทำร้ายเด็ก หากมีครูและพ่อแม่ประคับประคอง ส่งเสริม ให้กำลังใจ ว่ากันตรงๆ ความกดดันจะเป็นผลบวกให้สำเร็จมากขึ้นด้วยซ้ำ หากสังคมรอบตัวบอก “ทำได้ลูก ลูกทำได้!” แค่นี้เอง
- ดร.แอนเดรีย ชเลเชอร์พูดแบบชัด นักการศึกษาโบราณเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ยังน้อยกว่าผู้นำโบราณที่ไม่ทันยุคทันสมัย คือบรรทัดสุดท้าย ผู้นำสำคัญที่สุด หากต้องการปฏิรูป พัฒนาการศึกษา ก็เท่านี้แล
ที่มา ; FB เอ้ สุชัชวีร์