เมื่อวันที่ 12 ก.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู หรือ ว9/2564 หรือ ว PA ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบในการพัฒนางาน 2 ส่วน คือ ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่ง และข้อตกลงในการพัฒนางานที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนาตามข้อตกลงให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินฯ และการประเมินผลการพัฒนาตามข้อตกลงมีผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ และนำข้อมูลการประเมินในแต่ละรอบของครูเข้าสู่ระบบเป็นประจำทุกรอบการประเมิน เพื่อใช้เลื่อนวิทยฐานะ เลื่อนขั้นเงินเดือน และดำรงไว้ซึ่งความรู้ตามวิทยฐานะ ซึ่งเกณฑ์การประเมินที่ต้องผ่านทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียนพิจารณาจากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามบันทึกการสอนผ่านไฟล์วิดีโอการสอน และด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนพิจารณาจากผลงานหรือการปฏิบัติงานของผู้เรียนที่ปรากฏภายหลังการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียนตามวิดีโอสอนโดยส่งเป็นไฟล์ดิจิทัล ไฟล์ภาพ หรือ PDF นั้น ขณะนี้ตนรับทราบว่าแต่ละสถานศึกษาอยู่ระหว่างช่วงของการจัดทำเกณฑ์ประเมินตาม ว PA
“การประเมินตามเกณฑ์ดังกล่าวดิฉันได้รับทราบว่ามีข้อร้องเรียนจากครูเป็นจำนวนมากว่าเกณฑ์ประเมินสร้างความยุ่งยาก และเป็นภาระงานให้แก่ทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยขณะนี้จะหารือกับ ก.ค.ศ. เพื่อมาทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือจะมีช่องทางไหนที่จะเหมาะสมกับเกณฑ์ประเมิน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินการ และต้องไม่สร้างภาระงานให้แก่ครูอีกต่อไป รวมถึงจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการประเมินผลงานครูด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาอาจยังมีการชี้แจงไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ขณะเดียวกันดิฉันจะลงพื้นที่รับฟังปัญหาของครูในเรื่องการประเมินตามเกณฑ์ ว PA ด้วย เพราะอย่างน้อยเราจะต้องฟังเสียงสะท้อนจากครู ซึ่งเป็นผู้ปฎิบัติโดยตรง” รมว.ศธ. กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ พร้อมทบทวนหากเกณฑ์ประเมิน PA สร้างภาระครู หลังพบครูสะท้อนการประเมินยุ่งยาก เตรียม ถก ก.ค.ศ.พิจารณารูปแบบการประเมินให้เหมาะสม
ที่มา ; เดลินิวส์ 12 กันยายน 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
‘ตรีนุช’ ยันไม่ทบทวนเกณฑ์ PA พร้อมเดินหน้า ต.ค.นี้ แน่นอน
น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ประเด็นที่อยากสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือเกณฑ์ PA ขอให้เข้าใจตรงกันว่าเราจะดำเนินการต่อไปตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดไว้ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไปทุกสถานศึกษาจะสามารถเข้าใช้งานระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัลหรือ DPA ได้ โดยมีเขตพื้นที่ฯเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการขยายผลสร้างความเข้าใจในการใช้งานระบบ DPA ให้แก่สถานศึกษาในสังกัด โดยเราจะเปิดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติยื่นคำขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ PA ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเป็นมติของ ก.ค.ศ. และมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ
“จากการลงพื้นที่ทราบว่า ครูและผู้บริหารกังวลเรื่องเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ และอาจจะไม่มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้โรงเรียนทุกแห่ง จึงอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อน และสับสนเรื่องเกณฑ์ PA ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของช่วงเริ่มต้น ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มอบหมายให้เลขาธิการ กพฐ. และเลขาธิการ ก.ค.ศ. หารือร่วมกัน เพื่อสร้างทีมงานมาทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูในเขตพื้นที่ โดยใช้ชื่อทีมงานนี้ว่า “PA Support Team” ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และเพื่อนครูบางส่วน จำนวนเขตพื้นที่ฯละ 8-15 คน รวมประมาณ 2,500 คน โดยทีมงานนี้จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนครูอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ขอให้ผู้อำนวยการ สพท.ทุกเขต กำกับ ดูแล การดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องเกณฑ์ PA ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ ศธ.” น.ส.ตรีนุชกล่าว
น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ 2566 ภารกิจด้านการศึกษาที่ได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ยังต้องพัฒนาก้าวไปข้างหน้า อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งวันนี้คนเกิดน้อยลง โรงเรียนยังมีจำนวนเท่าเดิม ขอฝากเรื่องโรงเรียนคุณภาพที่เขตพื้นที่ฯต้องช่วยกันพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ จิ๋วแต่แจ๋ว พัฒนาเต็มตามศักยภาพและบริบทของพื้นที่ ไม่ทอดทิ้ง นอกจากนี้ ศธ.ยังกำหนดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดนำ ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติเป็นภูมิปัญญาของคนไทย มาเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนด้วย โดยขอให้ สพฐ. ดำเนินการให้ครบวงจร ตั้งแต่ร่วมกับผู้รู้จัดทำหลักสูตร สร้างความร่วมมือกับปราชญ์ชุมชน ใช้ประโยชน์จากบริบทพื้นที่ต่อยอดการเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจน จัดเวทีให้นักเรียนได้มีโอกาสนำเสนอความรู้ความสามารถ แสดงถึงพลังของวัฒนธรรมไทย
‘ตรีนุช‘ ยันไม่ทบทวน เกณฑ์ PA ยันเดินหน้า ต.ค.นี้ แน่นอน ฝากบิ๊กเขตพื้นที่ฯ ดัน ร.ร.คุณภาพ มอบ ‘สพฐ.-ก.ค.ศ.’ ตั้งทีมสร้างความเข้าใจเกณฑ์ PA หลังครูสะท้อนสับสน ยัน ต.ค.นี้เปิดให้ยื่นขอมีวิทยฐานะแน่นอน