วันที่ 30 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวระบบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล หรือระบบ HRMS และระบบการประเมินวิทยฐานะใหม่ หรือระบบ DPA โดยมีนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เข้าร่วม ว่า ศธ.เน้นการทำงานที่สอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเป็นรัฐบาล 4.0 โดยนำดิจิทัลเข้ามาช่วยลดภาระงานต่างๆ ประกอบกับ ศธ.มีเป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยนำเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ศธ.จึงนำดิจิทัลมาลดภาระงานของครู ให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยให้ส่วนราชการบูรณาการฐานข้อมูลกลาง Big data ด้านการศึกษาให้สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งตนเห็นว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะที่ เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้มอบหมายให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารงานบุคคลฯ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายไทยแลนด์ 4.0
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า รวมถึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะใหม่โดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการประเมิน เพื่อแก้ปัญหาระบบการประเมินแบบเดิม ลดภาระเกี่ยวกับงานเอกสารการประเมิน รวมถึงกระชับเวลา ในการประเมินเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน สำหรับการจัดทำระบบ HRMS และระบบ DPA ไม่เพียงเป็นการจัดทำฐานข้อมูลครูทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาครูมืออาชีพอีกด้วย ตนเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะช่วยให้ครูลดภาระ ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย และสามารถใช้เวลาทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น
“อย่างไรก็ตามการทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีปัญหาอุปสรรค แต่ดิฉันเชื่อว่า เมื่อเรามีเป้าหมาย และเจตนารมณ์ที่ต้องการช่วยเหลือครู ช่วยลดภาระให้ครู เพราะที่ผ่านมาครูต้องทำงานเอกสาร ไปส่งเอกสารตามที่ต่างๆ ทำให้ครูออกจากห้องเรียน ออกจากโรงเรียน แต่ปัจจุบันจะนำทุกอย่างอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหน้าจอมือถือเท่านั้น แน่นอนว่าจะมีกลุ่มครูที่อยู่ในช่วงของการทำความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ ก.ค.ศ. ไปทำความเข้าใจครูในทุกสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อไป ดิฉันเชื่อว่า ระบบดิจิทัลยังช่วยสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการประเมินวิทยฐานะ กระบวนการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อครูและการศึกษาของไทยทั้งระบบ โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการและจะช่วยให้ครู รวมถึงระบบการศึกษาไทยในภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” น.สตรีนุช กล่าว
ด้านนายประวิต กล่าวว่า ระบบ HRMS เข้ามาบริหารจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติต่างๆ ทำให้ครูทุกคนสามารถดูทะเบียนประวัติได้ตลอดเวลา ซึ่งระบบ HRMS ก็จะเชื่อมโยงไปถึงระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัลโดยอัตโนมัติด้วย ทุกอย่างจะถูกอัพเดทอยู่ในระบบนี้ ทำให้ครูไม่ต้องใช้เวลานอกห้องเรียนไปทำเรื่องเกี่ยวกับทะเบียนประวัติอีกต่อไป และจะทำให้ครูมีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากกว่าเดิม ผู้บริหารเองก็สามารถดูรายงานข้อมูลภาพรวมเพื่อนำไปใช้กับการบริหารงานบุคคลเพื่อการจัดการและพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อีกด้วย โดยระบบ HRMS ก.ค.ศ.พร้อมที่จะเปิดใช้งานเดือนเมษายนนี้
“ส่วนระบบ DPA จะเข้ามาช่วยให้ครูสามารถยื่นขอวิทยฐานะได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สอดรับกับเกณฑ์การประเมินรูปแบบใหม่ ที่จะเน้นไปที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน แตกต่างจากเดิมที่เน้นการวัดผลลัพธ์จากผลงานวิชาการ ซึ่งวิดีโอการสอนสำหรับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ จะส่งผ่านระบบ DPA และคณะกรรมการจะประเมินผ่านระบบนี้ เช่นกัน ไม่ต้องทำแฟ้มเอกสารประเมินและเตรียมตัวนำเสนอ ซึ่งจะช่วยลดภาระของครู ลดระยะเวลา และลดภาระของบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน โดยระบบ DPA จะเริ่มใช้งานวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ โดย ก.ค.ศ. ได้เตรียมแผนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานทั้ง 2 ระบบ ให้แก่ครูทั้งในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เข้าใจและสามารถใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เมื่อระบบดังกล่าวจะมีข้อมูลส่วนตัวของครูอยู่จำนวนมาก ก.ค.ศ.ได้ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานของรัฐบาล ตนเชื่อว่าทั้ง 2 ระบบจะช่วยลดภาระครูได้อย่างแท้จริง” นายประวิต กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 30 มีนาคม 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
กระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูฯ และระบบประเมินวิทยฐานะ รูปแบบดิจิทัล หวังพลิกโฉมวิชาชีพครูสู่การพัฒนาระบบราชการและการบริหารภาครัฐ 4.0