เลขาธิการ ก.ค.ศ. นำทีมลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธร ติดตามผลการขับเคลื่อนเกณฑ์ PA พร้อมกับรับฟังปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เป็นตามนโยบายของกระทรวงศึกษาในการพลิกโฉมวิชาชีพครูและมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธร ว่าเป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เกณฑ์ PA) หลังจากที่ ก.ค.ศ. ประกาศใช้ไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการมอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศในการขับเคลื่อนเกณฑ์ PA ตนเองจึงได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และสร้างความเข้าใจและคลี่คลายในประเด็นที่ยังสงสัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในทิศทางที่ถูกต้อง โดยครั้งนี้ได้ลงพื้นที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 และโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งมีข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่สนใจได้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นข้อสงสัยในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพบว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสองจังหวัดเข้าใจในเกณฑ์ PA เป็นอย่างดี และสามารถลงมือปฏิบัติเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานได้เป็นอย่างดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธรในการพัฒนาตนเองในเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเกณฑ์ PA
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมแรงร่วมใจในการขับเคลื่อนของทุกฝ่ายในครั้งนี้ จะเป็นการรวมพลังที่ยิ่งใหญ่ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการผลิกโฉมการศึกษา รวมทั้งการผลิกโฉมวิชาชีพครูสู่คุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว
นอกจากนี้แล้วยังมีครูที่ได้กล่าวถึงเกณฑ์ PA ในหลายประเด็น เช่น
คุณครูชวัลกร วิทยพาณิช โรงเรียนอุบลวิทยาคม กล่าวว่า ตอนแรกก็กังวลกับเกณฑ์ใหม่นี้ แต่จุดสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจและมองเกณฑ์ PA ในมุมมองใหม่ ก็คือ การสร้างความเข้าใจโดยผู้บริหาร โดย ผอ.โรงเรียนถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับคุณครู ยิ่งผู้บริหารมีความเข้าใจในตัวเกณฑ์ รวมถึงวิธีการเขียนข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) มากเท่าไร ก็จะสามารถถ่ายทอดและแนะนำแนวทางในการเขียน PA ให้กับบุคลากรในโรงเรียนได้มาก ทุกคนจะคลายกังวล ลองคิด ลงมือเขียน ปรับแก้ไขไปพร้อมกัน จนกว่าจะได้ข้อตกลงที่เหมาะสม
คุณครูพรสิระ ไชยรักษ์ โรงเรียนอุบลวิทยาคม มองว่า เกณฑ์ PA ไม่ได้ถือเป็นการสร้างภาระเพิ่มให้กับครู พอได้ศึกษาจริง ๆ จะพบว่ามันก็คืองานที่เราทำเป็นปกติอยู่แล้ว แค่เรามาเขียนให้ชัดเจน ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเด็ก พัฒนาห้องเรียน ว่าในแต่ละภาคเรียนครูเองอยากจะพัฒนาไปในรูปแบบไหน และถือเป็นเรื่องดีที่ผู้บริหารกับครูจะได้พูดคุยถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เมื่อพบปัญหาอะไรก็หยิบมาเป็นประเด็นท้าทายที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาเด็กร่วมกัน ไม่อยากให้คุณครูทุกท่านท้อใจและเชื่อว่าทุกท่านสามารถเริ่มต้นเรียนรู้และเริ่มก้าวเข้าสู่เกณฑ์ PA ไปพร้อม ๆ กันได้ และข้อกังวลประเด็นหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลายคน คือ เรื่องของการคัดเลือกคณะกรรมการประเมิน ข้าราชการครูฯ อยากให้ ก.ค.ศ. ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างมีมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ และเพื่อให้การประเมินตาม ว PA นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อขอมีและวิทยฐานะในรูปแบบใหม่นี้ด้วย
ภาพการลงพื้นที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
















ที่มา ; ก.ค.ศ.