เลขาธิการ ก.ค.ศ. ลงพื้นที่สุพรรณบุรี เพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ PA

(11 มกราคม 2565) รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ เป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามเกณฑ์ PA หลังจากที่ ก.ค.ศ. ประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 นั้น ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติ และได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปอย่างไรบ้าง พบปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ และนอกจากการรับฟังปัญหา อุปสรรค และการขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการดำเนินงานแล้ว ต้องการสร้างความเข้าใจและคลี่คลายในประเด็นที่ยังสงสัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในทิศทางที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ได้เลือกลงพื้นที่ ณ โรงเรียนวัดสามัคคีธรรม อำเภอเมืองฯ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 โดยมีข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 ได้เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นข้อสงสัยในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพบว่า ข้าราชการในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจในเกณฑ์ PA จากการชี้แจงของสำนักงาน ก.ค.ศ. ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงได้ศึกษาคู่มือทำให้ปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญต้องขอชื่นชม สพป.สุพรรณบุรีเขต 1 ที่ได้ให้ความสำคัญ และชี้นำข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด

นอกจากการลงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงาน ก.ค.ศ. ยังได้วางแผนในการลงพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพื่อติดตามการนำเกณฑ์ PA ไปสู่การปฏิบัติและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเกณฑ์ PA เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว

ความคิดเห็นของครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่ได้เข้าร่วมพูดคุยถึงการดำเนินการตามเกณฑ์ PA

น.ส.รุจิกาญจน์ ธนาเศรษฐ์สุนทร ครูโรงเรียนสุพรรณภูมิ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนกำลังจะก้าวสู่การมีวิทยฐานะ ตอนแรกมองว่า PA เป็นเรื่องยุ่งยาก เพิ่มภาระให้ครู แต่วันนี้ได้มีโอกาสฟังการชี้แจงโดยตรง ก็เข้าใจเกณฑ์ใหม่มากขึ้น และพอได้ศึกษาลึก ๆ แล้ว เห็นว่าเราสามารถเริ่มต้นและลงมือทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ได้ โดยถือว่าลดภาระจากการประเมินแบบเก่า และไม่ต้องตั้งโต๊ะการประเมิน แต่เน้นการพัฒนาการสอนในห้องเรียนให้ดีที่สุด

นายประสาน พุ่มเข็ม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงเจริญผล กล่าวว่า จากมุมมองของผู้บริหารสถานศึกษา เห็นว่าที่ผ่านมาครูที่ได้รับวิทยฐานะแล้ว จะขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาการจัดการศึกษา แต่เกณฑ์ PA นั้น เข้ามากระตุ้นให้ครูเกิดการพัฒนาตนเอง เติมเต็มความสามารถ และได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง จากการตั้งประเด็นท้าทาย ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กและห้องเรียนโดยตรง

เลขาธิการ ก.ค.ศ. “รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์“ นำทีมลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ติดตามผลการขับเคลื่อนเกณฑ์ PA เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติงานจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา; สำนักงาน ก.ค.ศ.

ข่าวเกี่ยวกัน

รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาติดตามผลการดำเนินงานเกณฑ์ PA

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. นำทีมลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อกำกับ ติดตาม รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ (เกณฑ์ PA) เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถนำไปสู่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
                   

นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ให้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรมราช และจังหวัดสงขลา เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เกณฑ์ PA) หลังจากที่ ก.ค.ศ. ประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 นั้น ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติ และได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปอย่างไรบ้าง พบปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ และนอกจากการรับฟังปัญหา อุปสรรค และผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานเกณฑ์ PA แล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ. ต้องการสร้างความเข้าใจและคลี่คลายในประเด็นที่ยังสงสัย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งวันนี้เป็นวันที่สามของการลงพื้นที่หลังจากที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ซึ่งวันนี้ได้ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนรัตภูมิวิทยา อำเภอรัตภูมิ และโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล โดยมีข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นข้อสงสัยในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและส่งผลลัพธ์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งหลังจากนี้ตนเองจะได้รายงานต่อเลขาธิการ ก.ค.ศ. ทราบต่อไป
                   

สำหรับในวันนี้ตนเองและคณะได้ตอบข้อสงสัยและคลายความกังวลให้กับคณะครูและผู้บริหาร ให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้เห็นถึงความสำคัญของหลักเกณฑ์ PA สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างน่าชื่นชม รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว 

และในการนี้มีผู้ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ PA ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล (นายศังกร รักชูชื่น) กล่าวว่า หลังจากที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ PA สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล ได้มีการประชุมหารืออย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาวิเคราะห์หลักเกณฑ์ และนำมาทำข้อตกลงในแต่ละระดับ ซึ่งขณะนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ทำ PA กันครบถ้วนแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประเมิน PA ให้มีความเข้าใจ ตรงกัน และทำความเข้าใจในเรื่องของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะทำให้ไม่เสียสิทธิ์ในการขอฯ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับคำขอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จากการที่ได้ศึกษาวิเคราะห์หลักเกณฑ์พบว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่มีแนวคิด วิธีการและความเชื่อมโยง ในระบบการประเมินวิทยฐานะที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ครูมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานตามสภาพจริง ทำให้ครูมีเพื่อนคู่คิดช่วยสนับสนุนการทำงานให้ส่งผลถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน นับเป็นคุณูปการที่จะเกิดขึ้นกับวงการศึกษาไทย

นอกจากนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตภูมิวิทยา (นายกิตติ์ภูมิ คงศรี) กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ PAโดยได้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานเรียบร้อยแล้ว โดยในการดำเนินการต่อไปควรมีการอบรมกรรมการประเมินให้สามารถประเมินได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการนี้ ได้เปิดโอกาสให้คณะครูได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งครูส่วนใหญ่เห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้มีข้อดีหลายประการ กล่าวคือ ลดระยะเวลาการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้เร็วขึ้น มีการเชื่อมโยงกับการเลื่อนเงินเดือนและการคงวิทยฐานะ ทำให้ครูมีควากระตือรือร้นในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ลดการที่ครูต้องทิ้งห้องเรียนเพื่อไปอบรมหรือเข้าแข่งขันต่าง ๆ เพื่อให้ได้รางวัล และการนำระบบออนไลน์มาใช้จะทำให้การประเมินมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 และผู้อำนวยการโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์(นายอภัย ภัยมณี) กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มีการกำหนดแผนการดำเนินการในการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ PA จำนวน 7 ขั้นตอน โดยมีจุดเน้น คือ

1) นำนวัตกรรมรูปแบบการนิเทศ CS PPK Model มาใช้

2) ขับเคลื่อน PLC ในสถานศึกษา

3) นำการวิจัยในชั้นเรียนมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 

นอกจากนี้ได้มีคณะผู้บริหารจากสถานศึกษาใกล้เคียง และคณะครูของโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นสรุปได้ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่นำมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะมาเป็นกรอบในการประเมิน ซึ่งทำให้ครูมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน การเชื่อมโยงการประเมิน PA กับการเลื่อนเงินเดือน เป็นการลดภาระในการประเมิน และที่เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ การทำ PA ในส่วนที่เป็นประเด็นท้าทาย ทำให้มีการกำหนดเป้าหมายและสร้างทิศทางการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และสถานศึกษาหลายแห่งได้กำหนดประเด็นท้าทายให้สอดคล้องกับงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาด้วย

ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

Leave a Reply