ข้อดีและสิ่งดึงดูดคนให้เข้ามาทำงาน “รับราชการ” ซึ่งนอกเหนือจากอุดมการณ์ คือ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ หรือ ประโยชน์ตอบแทนสำหรับตนเองและหรือคนในครอบครัว ในขณะที่รับราชการ และเมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อ “เกษียณอายุราชการ” แล้ว รัฐยังต้องดูแลข้าราชการที่เกษียณจนกว่าจะเสียชีวิต ถึงแม้ว่าไม่ทำงานให้รัฐแล้วก็ตาม
ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. (กรณีข้าราชการที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 40 เป็นสมาชิก กบข.โดยกฎหมาย หากบรรจุก่อนนั้นเลือกที่จะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้) เกษียณแล้วนอกจากจะได้รับบำเหน็จ บำนาญแล้ว ยังได้รับเงินจาก กบข.ด้วย และยังสามารถออมเงินต่อ และสร้างรายได้ด้วยการลงทุนกับเงิน กบข. ด้วย
ข้อเขียนนี้ จึงมุ่งนำเสนอ ทบทวน แนะแนวทางบางอย่าง สำหรับผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่ผู้ที่เป็นสมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในประเด็นดังนี้
1. สมาชิก กบข.เกษียณแล้วได้เงินอะไรบ้าง
2. เงินที่พึงได้ของสมาชิก กบข.มีอะไรบ้าง และใครเป็นผู้ดูแล
3. การบริหารจัดการให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังเกษียณและ
4. สบายสไตล์วัยเก๋า เกษียณแล้ว เงินทองต้องวางแผน
5. เลือกวางแผนสร้างรายได้จากเงิน กบข. ด้วยการลงทุนอย่างไรดี
@สมาชิก กบข.เมื่อเกษียณแล้วได้เงินอะไรบ้างและได้จำนวนเท่าใด
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กองทุน กบข.) ออกมาย้ำอีกครั้งว่า
1.ข้าราชการทุกคน ไม่ว่าจะบรรจุเข้ารับราชการในปีไหน (ทั้งเป็นสมาชิก กบข.และไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.) ก็ยังคงมีสิทธิเลือกได้ว่า เมื่อเกษียณอายุราชการ หรือออกจากราชการ จะเลือกรับ “บำเหน็จ” หรือ “บำนาญ” จากกรมบัญชีกลาง โดยการเลือกรับบำนาญมีเงื่อนไขที่ต้องจดจำเพียงแค่ 2 กรณี
- อายุราชการ 25 ปี ขึ้นไป ออกจากราชการด้วยเหตุลาออก ให้ออก หรือปลดออก
- อายุราชการ 10 ปีขึ้นไป ออกจากราชการด้วยเหุตสูงอายุ (อายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) เหตุเกษียณ ทุพพลภาพ หรือทดแทน
2.สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. จะมีเงิน กบข. ที่จะได้รับคืน จะได้เท่าไหร่ อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกเลือกรับ “บำเหน็จ” หรือ “บำนาญ”
- หากสมาชิกเลือกรับบำเหน็จ จะได้รับเงิน กบข. คืน ในส่วนของเงินสะสมของตนเอง และเงินสมทบจากรัฐ พร้อมเงินส่วนผลตอบแทนที่ กบข. นำไปลงทุนให้
- หากสมาชิกเลือกรับบำนาญจากกรมบัญชีกลาง จะได้รับเงิน กบข. คืนทุกก้อน ทั้งเงินสะสมของตนเอง (เงินสะสมตามกฎหมาย 3% และเงินออมเพิ่มตามความสมัครใจ 1-12%) เงินสมทบ 3% และเงินชดเชย 2% จากรัฐ และเงินประเดิม (กรณีที่สมาชิกบรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 40 จะมีเงินก้อนนี้) ซึ่งสมาชิกจะได้รับเงินคืนทั้งหมด พร้อมเงินส่วนผลตอบแทนที่ กบข. นำไปลงทุนให้
3.จำนวนเงินที่ได้เมื่อเกษียณอายุราชการทั้งกรณีเป็นสมาชิก กบข.และไม่เป็นสมาชิก กบข. ดังนี้

@เงินที่พึงได้ของสมาชิก กบข. มีอะไรบ้างและใครเป็นผู้ดูแล
เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรรู้ โดยเฉพาะเรื่องเงิน เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ในกรณีที่ข้าราชการเป็นสมาชิก กบข. ว่ามีเงินอะไรบ้าง และเงินแต่ละส่วนนั้นใครเป็นผู้ดูแล สาระดังนี้
1. เงินส่วนที่ กบข. ดูแลให้สมาชิก ประกอบไปด้วย 2 ส่วน
- ส่วนที่สมาชิกส่งเอง แบ่งเป็นเงิน 2 ถุง
ถุงที่ 1 เงินสะสม คือ เงินที่สมาชิกส่งสะสมตามกฎหมาย เดือนละ 3% ของเงินเดือน
ถุงที่ 2 เงินออมเพิ่ม คือ เงินที่สมาชิกส่งสะสมเพิ่มตามความสมัครใจ ตั้งแต่ 1-12% ของเงินเดือน
- ส่วนที่รัฐนำส่งให้ แบ่งเป็นเงิน 3 ถุง
ถุงที่ 3 เงินสมทบ คือ เงินที่รัฐส่งให้ทุกเดือน เดือนละ 3% ของเงินเดือน
ถุงที่ 4 เงินชดเชย คือ เงินที่รัฐส่งให้ทุกเดือน เดือนละ 2% ของเงินเดือน
ถุงที่ 5 เงินประเดิม คือ เงินที่รัฐส่งให้ครั้งเดียว เฉพาะผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และเลือกเป็นสมาชิก กบข.
- การนำเงินไปลงทุน
ถุงที่ 1-3 กบข. จะนำเงิน ถุงที่ 1 เงินสะสม,ถุงที่ 2 เงินออมเพิ่มและถุงที่ 3 เงินสมทบ ไปลงทุนสร้างผลตอบแทนให้สมาชิกตามแผนการลงทุนที่สมาชิกเลือกไว้
ถุงที่ 4-5 ถุงที่ 4 เงินชดเชย และ ถุงที่ 5 เงินประเดิม จะนำไปลงทุนในแผนหลักตามที่กฎหมายกำหนด
2. เงินส่วนที่ภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังดูแลโดยตรง ประกอบด้วย
- เงินบำเหน็จ คือ เงินที่ได้รับจากรัฐเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียวหลังจากเกษียณ
- เงินบำนาญ คือ เงินที่ได้รับจากรัฐเป็นรายเดือนหลังจากเกษียณจนกว่าจะเสียชีวิต
- เงินบำเหน็จตกทอด คือ เงินที่รัฐจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ทายาทข้าราชการ หรือทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด หรือผู้รับบำนาญที่เสียชีวิต ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินครั้งเดียว
- เงินบำเหน็จดำรงชีพ คือ เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญ เพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีพ
- เงินเบี้ยหวัด คือ เงินตอบแทนความชอบที่รับราชการมา ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนให้แก่นายทหาร ชั้นสัญญาบัตรและนายทหารประทวนที่ออกจากราชการ และยังอยู่ในกองหนุนโดยจ่ายถึงวันครบกำหนดรับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. 2495

@การบริหารจัดการให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังเกษียณ
การบริหารจัดการให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังเกษียณนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากวัยเกษียณอาจไม่ได้มีแหล่งรายได้ที่แน่นอนเหมือนในขณะที่ยังมีงานประจำทำอยู่ ดังนั้นก่อนเกษียณ เราควรสำรวจตนเองในเบื้องต้นว่ามีแหล่งรายได้จากที่ใดบ้าง ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ ตลอดจนประเมินคร่าว ๆ ว่าจะมีชีวิตหลังวัยเกษียณกี่ปี โดยใช้ข้อมูลอายุขัยของคนในครอบครัวมาประเมิน
จากนั้นก็นำมาคำนวณเพื่อหายอดเงินเกษียณที่สามารถใช้ได้ในแต่ละปี และนี่คือ 3 เทคนิคบริหารจัดการเงินหลังเกษียณที่จะทำให้ทุกท่านวางแผนใช้เงินหลังเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. สำรวจรายได้
เพื่อให้ทราบว่าตนเองว่ามีแหล่งรายได้วัยเกษียณจากที่ไหนบ้าง และนำไปวางแผนบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ
• เงินก้อน อาทิ เงินบำเหน็จ เงินก้อน กบข. เงินครบกำหนดสัญญาประกันชีวิต LTF RMF เงินฝาก
• เงินได้ประจำระหว่างหลังเกษียณ อาทิ เงินบำนาญ เงิน กบข. ที่ออมต่อและขอรับคืนแบบทยอยรับเป็นงวด ดอกเบี้ยจากเงินฝากหรือหุ้นกู้ เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม รายได้จากการเก็บค่าเช่า เป็นต้น
2. ตรวจสอบค่าใช้จ่าย และหนี้สินคงค้าง
วิธีตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่ดีที่สุดคือ จดบันทึกค่าใช้จ่ายที่แน่นอน มีค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าไหร่ จากนั้นจึงนำมาวางแผนใช้จ่ายให้เพียงพอกันแหล่งรายได้ที่มี และต้องควบคุมให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ด้วย
อีกสิ่งสำคัญคือภาระหนี้สิน ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งหากสามารถทำได้ให้นำเงินก้อนที่ได้รับ ณ วันเกษียณจัดการหนี้คงค้างจนหมด หรือเลือกชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดก่อนเพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย
3. รู้จักลงทุน
ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้วัยเกษียณได้มีรายรับเพิ่มเติม เพียงแต่ต้องเลือกลงทุนให้เหมาะสม เน้นการกระจายสินทรัพย์ลงทุนในหลาย ๆ ประเภทเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน และเน้นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย
ทั้งนี้ สำหรับสมาชิก กบข. ที่กำลังจะเกษียณ อาจพิจารณาใช้บริการออมต่อกับ กบข. เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญดูแลเรื่องการลงทุนให้ โดยอาจขอทยอยรับเงินคืนเป็นงวด ๆ เพื่อให้มีรายรับเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

@สบายสไตล์วัยเก๋า เกษียณแล้ว เงินทองต้องวางแผน
ผู้สูงอายุมักตกเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพเพราะมักจะมีเงินเก็บก้อนใหญ่ โดยกลโกงที่มิจฉาชีพจะนำมาใช้หลอกหลวงนั้นมีหลากหลายรูปแบบซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อมาทางโทรศัพท์ อาทิ
1.ถ้ามาร่วมลงทุนด้วยกันจะได้ผลตอบแทนสูง
ไม่ว่าจะเป็นการชวนให้ลงทุนทองคำ น้ำมัน หุ้นต่างประเทศ หุ้นไทย เงินดิจิตอล ซื้อขายที่ดิน หรือลงทุนทำธุรกิจ (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแชร์ลูกโซ่)
2.คุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น หลอกว่าได้รับรางวัลใหญ่จากการชิงโชค ซึ่งอาจเป็นรายการชิงโชคที่มีอยู่จริง หรือไม่จริงก็ได้ และก่อนจะรับรางวัลนั้นต้องโอนเงินไปให้ โดยอาจเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 5% ของเงินรางวัลหรือมูลค่าของสิ่งของที่ได้รับ
3.คุณติดหนี้บัตรเครดิต
จะมาในรูปแบบการขู่ว่าหากไม่โอนเงินมาชำระตอนนี้จะโดนขึ้นบัญชีดำ แม้แต่ผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิตก็ถูกหลอกด้วยวิธีนี้เช่นกัน โดยจะเปลี่ยนกลโกงเป็นถูกคนอื่นนำข้อมูลไปสมัครบัตรเครดิต
4.ญาติห่าง ๆ ทิ้งเงินประกันชีวิตไว้ให้
กรณีนี้มิจฉาชีพจะบอกว่าญาติห่าง ๆ ของผู้สูงอายุเสียชีวิตแล้ว และได้ทำประกันชีวิตไว้โดยมีผู้สูงอายุเป็นผู้รับผลประโยชน์ แต่ยังส่งเบี้ยประกันไม่ครบ และหว่านล้อมให้ผู้สูงอายุโอนเงินค่าเบี้ยประกันที่ค้างอยู่ไปให้ เพื่อจะได้รับเงินประกันทั้งหมดกลับคืนมา
5.บัญชีเงินฝากของคุณถูกอายัด
มิจฉาชีพจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารแห่งประเทศไทยโทรมาแจ้งว่าบัญชีของผู้สูงอายุถูกอายัด หรือระบบขัดข้องทำให้ข้อมูลทางการเงินหายไป หากต้องการปลดล็อกต้องยืนยันข้อมูลส่วนตัวเช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชี รหัสเอทีเอ็ม หรือให้ไปที่ตู้เอทีเอ็มแล้วทำรายการโอนเงินตามที่มิจฉาชีพสั่ง
คำแนะนำกรณีพบเจอมิจฉาชีพใจร้ายเหล่านี้ ขอให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ โดยติดต่อไปศูนย์บริการลูกค้าของสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213
นอกจากความใจร้ายของเหล่ามิจฉาชีพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังคือความใจดีของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ลูกหลาน เพื่อนฝูง หรือการค้ำประกันให้ผู้อื่น โดยก่อนตัดสินใจใด ๆ ต้องไม่ลืมว่า “เงินก้อนที่เราเก็บไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณนั้นคือเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต”

@เลือกวางแผนสร้างรายได้จากเงิน กบข. ด้วยการลงทุนอย่างไรดี
ถือเป็นคำถามยอดฮิตของสมาชิก กบข. ที่มีอายุประมาณ 55 ปี ขึ้นไป
ซึ่งคำแนะนำโดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการลงทุนของคนวัยนี้คือ ควรมีความระมัดระวัง และเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงของการลงทุนที่ยอมรับได้ของสมาชิกแต่ละท่านนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป
นี้จึงมีแนวทางการสำรวจตัวเองเบื้องต้น เพื่อตัดสินใจเลือกแผนการลงทุน กบข. ในช่วงใกล้เกษียณมาฝากกัน
ก่อนอื่นสมาชิกต้องสำรวจตนเอง 2 ประการคือ คือ
- ประการแรก ยอดเงินปัจจุบัน ซึ่งสามารถดูแบบอัปเดตได้ที่เมนูบัญชีของฉันในแอป กบข.
- ประการที่สออง ความคาดหวังผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงของการลงทุนที่ตนเองยอมรับได้เป็นอย่างไร โดยในที่นี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ต้องการความมั่นคง รักษาเงินต้นให้ปลอดภัย ไม่เน้นเรื่องผลตอบแทน
-แผนการลงทุน กบข. ที่สามารถพิจารณาเลือกคือ แผนกลุ่มที่มีระดับความเสี่ยงต่ำมาก/ต่ำ ได้แก่ แผนตลาดเงิน แผนตราสารหนี้ แผนสมดุลตามอายุ (ที่ปรับสัดส่วนการลงทุนสำหรับสมาชิกที่มีอายุ 45 ปี ขี้นไป)
2. รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ต้องการความสมดุลระหว่างการรักษาเงินต้นและสร้างผลตอบแทน
-แผนการลงทุน กบข. ที่สามารถพิจารณาเลือกคือ แผนกลุ่มที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง/ปานกลางค่อนข้างสูง ได้แก่ แผนหลัก กบข. แผนผสมหุ้นทวี
3. ไม่เน้นคุ้มครองเงินต้น พร้อมเสี่ยงกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เพราะคาดหวังโอกาสสร้างผลตอบแทน และไม่กังวลหากผลตอบแทนอาจจะผันผวน ขึ้น/ลงในบางเวลา
– แผนการลงทุน กบข. ที่สามารถพิจารณาเลือกคือ แผนกลุ่มที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างสูง/สูง ได้แก่ แผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย แผนตราสารทุนไทย
ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงแนวทางการสำรวจตนเองเบื้องต้นเท่านั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกแผนการลงทุนทุกครั้ง ขอแนะนำให้สมาชิกทำแบบประเมินความเสี่ยง ที่ “เมนูประเมินความเสี่ยง” ในแอป กบข. หรือหากต้องการขอคำแนะนำด้านการวางแผนเกษียณ สามารถนัดหมายผู้เชี่ยวชาญของ กบข. ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่เมนู “นัดหมายศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน

สุดท้าย สมาชิก กบข. ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ที่ด้านล่างนี้
- สมาชิก กบข. เกษียณอายุ จะมีสิทธิ์เลือกรับบำเหน็จ หรือ บำนาญ จากกรมบัญชีกลาง และรับเงินก้อนจาก กบข. คลิก https://bit.ly/37X3axN
- ขั้นตอนการขอรับเงินคืน เมื่อสมาชิกเกษียณอายุ คลิก https://bit.ly/3mkyC1E
- 8 ข้อควรรู้ สำหรับสมาชิก กบข. ที่จะเกษียณปีนี้ คลิก https://bit.ly/3xY3V4o
- ทางเลือกบริหารจัดการเงิน กบข. สำหรับสมาชิกที่กำลังจะเกษียณปีนี้ คลิก https://bit.ly/3ggTNgY
- ข้อควรทราบสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ คลิก https://bit.ly/3mja6hp
- 7 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการใช้บริการออมต่อกับ กบข. คลิก https://bit.ly/3kC6nsw
แหล่งข้อมูล #กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ