“กราบเรียน” “กราบเรียนในเบื้องต้น” “กราบเรียนอีกครั้งหนึ่ง“
ต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องล้อกันเล่น หรือประชดน่ะครับ เป็นเรื่องวิชาการ
“กราบเรียน” กล่าวในโอกาสไหน ใช้กับใครได้บ้าง?
ว่าก็ว่า เราก็พบเห็นและได้ยินคำว่า “กราบเรียน” อยู่เนื่องๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม พิธีการเปิดงาน หรือการกล่าวปราศรัยรณรงค์หาเสียงของนักการเมือง ซึ่งผู้กล่าวอาจมองว่าเป็นเรื่องของการให้เกียรติแก่คนที่กล่าวถึง หรืออาจเป็นเพราะพูดชินจนติดปาก
เมื่อไม่กี่วันคำว่า “กราบเรียน” ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยจนเป็นกระแสทางโลกโซเซียล อันเนื่องจากรายการดังรายการหนึ่งของโทรทัศน์ช่องหนึ่งเชิญนักการเมืองท่านหนึ่งมาพูดคุย และท่านนั้นพูดคำว่า “กราบเรียน” “กราบเรียนในเบื้องต้น” “กราบเรียนอีกครั้งหนึ่ง” บ่อยมากระหว่างการสนทนากัน
ซึ่งหากมองในมิติของการพูดคุยสนทนาทั้งทางการ กึ่งทางการ หรือไม่เป็นทางการ ก็คงไม่ผิดอะไรมาก การสมควรหรือไม่สมควร ถูกหรือไม่ถูก ก็ขึ้นกับเหตุผลและมุมมอง
แต่ถ้าหากเป็นราชการ “กราบเรียน” มีแนวปฏิบัติ โอกาสการใช้ ใช้กับใครบ้าง เป็นเรื่องที่ควรนำเล่าในโอกาสนี้น่าจะเกิดความสนใจและจดจำมากขึ้น
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม “กราบเรียน” เป็นคำขึ้นต้นของหนังสือราชการ และคำที่ใช้ในการจ่าหน้าซองหนังสือราชการ โดยได้กำหนดไว้ที่ภาคผนวก 2 คำขึ้นต้น สรรพนาม คำลงท้ายในหนังสือราชการ และคำที่ใช้ในการจ่าหน้าซอง เช่น
บุคคลทั่วไปใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายว่า “เรียน – ขอแสดงความนับถือ”
ส่วนบุคคลสำคัญที่ต้องใช้คำคำขึ้นต้นและคำลงท้ายว่า “กราบเรียน – ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง”
ดังนั้น “กราบเรียน” แท้จริงหากเป็นทางการหรือหนังสือราชการ แล้วใช้กับบุคคลสำคัญดังต่อไปนี้
- ประธานองคมนตรี
- นายกรัฐมนตรี
- ประธานรัฐสภา
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ประธานวุฒิสภา
- ประธานศาลฎีกา
- ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- ประธานศาลปกครองสูงสุด
- ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
- ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
- ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน
- อัยการสูงสุด
- รัฐบุรุษ

ภาพ ; sanook.com
อ้างอิง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2548