จากหลักการและเหตุผลของหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสายงานนั้น จะเห็นว่าระบบการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ เป็นกลไกสำคัญในการที่จะปฏิรูปและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาคการศึกษาก่อประโยชน์ต่อผู้เรียน แผนการปฏรูปการศึกษาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ กล่าวคือ แผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้มีการพัฒนาระบบประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะ หรือในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กำหนดให้มีการปรับปรุงระบบการประเมินการปฏิบัติงานและสมรรถนะวิชาชีพครู และกำหนดให้มีปรับปรุงระบบกลไกในการเลื่อนวิทยฐานะและการคงวิทยฐานะ เป็นต้น
ทั้งนี้ระบบประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะที่พัฒนาขึ้น จะเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ครูพัฒนาตนเองและวิชาชีพให้มีสมรรถนะตามตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เพราะเป็นปัจจัยหลักในการปฏิรูปการศึกษา อันจะทำให้ผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิในในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันเป็นเป้าหมายรวมของการศึกษาที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นในหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะใหม่นี้ จึงกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละตำแหน่งและวิทยฐานะมีสมรรถนะและสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นๆ ดังนี้
๑.สมรรถนะและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดของสายงานการสอน(ครู)
การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้ข้าราชการครู (ครูสายการสอน) มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้และจัดการชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน และสร้างการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
และต้องการให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งหมายถึง ความรู้ ทักษะ เจตคติ ความคิด พฤติกรรม หรือคุณลักษณะตามจุดประสงค์ของหลักสูตร ที่เปลี่ยนแปลงไปในมางที่ดีหรือมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติตามกระบวนการหรือกิจกรรมที่ครูผู้สอนออกแบบและดำเนินการ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก “ผลงาน “ (Product) หรือผลการปฏิบัติงาน (Performance) ของผู้เรียนที่ปรากฎภายหลังการเรียนรู้
๒. สมรรถนะและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดของสายงานบริหารสถานศึกษา(ผู้บริหารสถานศึกษา)
การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษามีสมรรถนะในการบริหารสถานศึกษา เป็นผู้นำทางวิชาการและบริหารเปลี่ยนแปลง สามารถปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน และสร้างการเปลี่ยนแปลงในการบริหารสถานศึกษา ที่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ คุณภาพผู้เรียน คุณภาพครูและคุณภาพสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
และต้องการให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาการบริหารสถานศึกษา ซึ่งหมายถึง ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครูและสถานศึกษา ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อได้มีการดำเนินการตามแผนพัฒนาสถานศึกษา กลยุทธ์ การใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมทางการบริหาร ที่ผู้บริหารสถานศึกษาได้พัฒนาขึ้น
๓. สมรรถนะและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดของสายงานการนิเทศ(ศึกษานิเทศก์)
การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้ศึกษานิเทศก์มีสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา และเป็นผู้นำทางวิชาการด้านการศึกษาให้กับครู สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน และสร้างการเปลี่ยนแปลงการนิเทศการศึกษา ที่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาของผู้รับการนิเทศ คุณภาพสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
และต้องการให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาการนิเทศการศึกษา ซึ่งหมายถึง ผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษาของผู้รับการนิเทศ หรือการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนในหน่วยงานการศึกษาที่รับผิดชอบ เมื่อมีการดำเนินการตามแผนการนิเทศการศึกษา กลยุทธ์ สื่อ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีในการนิเทศการศึกษา หรือพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาที่ศึกษานิเทศก์ได้พัฒนาขึ้น
๔. สมรรถนะและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดของสายงานบริหารการศึกษา(ผู้บริหารการศึกษา)
การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้ผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารและการจัดการศึกษา และเป็นผู้นำการพัฒนาการศึกษาให้กับครู สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน และสร้างการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการศึกษา ที่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ คุณภาพครู คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
และต้องการให้เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาการบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งหมายถึง ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา เมื่อมีการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ การใช้เครื่องมือ หรือนวัตกรรมทางการบริหาร ตามแผนพัฒนาการบริหารและการจัดการศึกษาที่ผู้บริหารได้พัฒนาขึ้น
ดังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ พัฒนาตนเอง พัฒนาสมรรถนะ พร้อมกับจัดทำและหรือพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ให้เป็นไปตามผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิด และตรงตามมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะของตนเอง
บวร เทศารินทร์