ผู้บริหารการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องรู้ เข้าใจ เตรียมการ ปฏิบัติหรือพัฒนางานให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ ความคาดหวังต่อตำแหน่งและวิทยาฐานะของผู้บริหารการศึกษา
ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๑๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement :PA) ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องจัดทำและเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เช่น รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอต่อเลขาธิกาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแสดงเจตจำนงว่าภายในรอบการประเมิน จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด โดยสะท้อนให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังของตำแหน่งและวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของเขตพื้นที่การศึกษา นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน
ข้อตกลงในการพัฒนางาน(PA) ดังกล่าว ในหลักเกณฑ์การประเมินฯ กำหนดให้มี ๒ ส่วน กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑ ข้อตกลงในการพัฒนาตามมาตรฐานตำแหน่ง ประกอบด้วย ๑) การปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา และมีภาระงานตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ๒) ผลการปฏิบัติงาน ด้านการบริหารและความเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา ด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ด้านการบริหารชุมชนและเครือข่าย และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
ส่วนที่ ๒ ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยผู้บริหารการศึกษาต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ข้อตกลงในการพัฒนางานต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของหน่วยงานการศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ
ในการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา (รองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) ที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตรงประเด็นนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ขอบข่ายและประเด็นลักษณะงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำหนดไว้แล้วในมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะของผู้บริหารการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔
ตำแหน่งสายงานบริหารการศึกษา (เขตพื้นที่การศึกษา) มี ๒ ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง ๒ ตำแหน่ง มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการบังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร ในเขตพื้นที่การศึกษารองจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และช่วยปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารและความเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร การบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม การบริหารชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการบังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร ในเขตพื้นที่การศึกษา ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารและความเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร การบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม การบริหารชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
ขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารการศึกษา
ลักษณะงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารการศึกษา (ขอเรียกว่าขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารการศึกษา) เป็นการปฏิบัติงาน(ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) หรือช่วยปฏิบัติงาน (รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) ที่เกี่ยวกับ ๑) การบริหารและความเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา๒) การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร ๓) การบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ๔) บริหารงานชุมชนและเครือข่าย และ ๕) พัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งต้องบูรณาการงานทั้ง ๕ ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
โดยในแต่ละด้าน (ขอบข่ายงาน) และเรื่องย่อยของแต่ละด้าน (ประเด็นภาระงาน) มีดังนี้
๑. ด้านการบริหารและความเป็นผู้นำการพัฒนาการศึกษา
๑.๑ จัดทำและดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษา กำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการจัดการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา ให้หน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาได้พัฒนาการจัดการศึกษา ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาการศึกษา
๑.๒ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้มีความสารถพิเศษ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
๑.๓ ส่งเสริม สนับสนุน วิเคราะห์ วิจัย และประสานงานด้านวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา
๑.๔ ส่งเสริมให้มีการจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินผลสถานศึกษา เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๑.๕ ส่งเสริม สนับสนุน การนิเทศการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สร้างและสนับสนุนให้หน่วยงานการศึกษาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ
๑.๖ ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนา หรือการนำสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา มาใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษา ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนมีทักษะการคิด และสร้างนวัตกรรมได้
๒.ด้านบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร
๒.๑ บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา (ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษารองจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) บริหารงานตามภารกิจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
๒.๒ บริหารงานบุคคล บริหารงานงบประมาณ และบริหารทั่วไปของเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และเป็นไปตามหลักบริหารกิจการบ้านเมือง
๒.๓ ส่งเสริมและพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาให้มีสมรรถนะเต็มตามศักยภาพ โดยเน้นทักษะการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่น และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยวิธีการต่างๆอย่างเหมาะสม
๒.๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์
๒.๕ ส่งเสริม สนับสนุนระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาผู้เรียนให้มีโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ
๒.๖ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการและเลขานุการตามที่ได้รับมอบหมาย (เฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา)
๓.ด้านบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม
๓.๑ กำหนดนโยบาย แผน กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และเครือข่าย โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นฐาน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
๓.๒ นำนโยบาย แผน กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ไปปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุน กำกับและติดตาม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนที่กำหนด
๓.๓ สร้างหรือนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้เรียน มีสมรรถนะและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต
๓.๔ สร้างการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมในเขตพื้นที่การศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๔.ด้านบริหารงานชุมชนและเครือข่าย
๔.๑ สร้างและพัฒนาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา ผู้เรียน สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่าย เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือ และพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน
๔.๒ จัดระบบการให้บริการในเขตพื้นที่การศึกษา ประสานความร่วมมือกับชุมชนและเครือข่ายในการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ให้บริการวิชาการแก่ชุมชน และงานจิตศึกษา เพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน และเสริมสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น
๔.๓ ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาของเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันอื่น เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
๕.ด้านพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
๕.๑ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ โดยเฉพาะอย่ายิ่งการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร สมรรถนะทางวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และความรอบรู้ในการบริหารงานให้สูงขึ้น
๕.๒ มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา
๕.๓ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษา รวมถึงพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
๕.๔ สร้างและสนับสนุนชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ
ระดับความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงาน
ในทำนองเดียวกัน การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบนั้น ผู้บริหารการศึกษาต้องพัฒนางานให้สอดคล้องกับระดับความคาดหวังในคุณภาพงานของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้น ๆ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของหน่วยงานการศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือ
ความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงานของตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาทั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานการปฏิบัติงาน(ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) หรือช่วยปฏิบัติงาน (รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) ด้านการบริหารและความเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษา ด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ด้านการบริหารชุมชนและเครือข่าย โดยในแต่ละวิทยฐานะมีระดับความคาดหวังที่แตกต่างกัน ดังนี้
๑. ผู้บริหารการศึกษาวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการแก้ปัญหา และพัฒนาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี
๒. ผู้บริหารการศึกษาวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการแก้ปัญหา และพัฒนาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและนำไปเผยแพร่ได้ มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่น
๓. ผู้บริหารการศึกษาวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการแก้ปัญหา และพัฒนาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและงานวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เผยแพร่และขยายผลในวงวิชาชีพ เป็นแบบอย่าง และเป็นที่ยอมรับ มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นรวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่น และเป็นผู้นำ
กล่าวโดยสรุป มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญและกำหนดให้เป็นกรอบการประเมินฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา หรือ เกณฑ์ PA ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษาทั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ เตรียมการ ปฏิบัติ และพัฒนางาน ให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ และระดับความคาดหวังในแต่ละตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นๆ
บวร เทศารินทร์
อ้างอิง