เตรียมพัฒนางานตามข้อตกลง(PA)ให้ตรงกับตำแหน่งและวิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษาต้องรู้ เข้าใจ ปฏิบัติหรือพัฒนางานให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ ความคาดหวังต่อตำแหน่งและวิทยาฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา

ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๑๐ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement :PA) ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องจัดทำและเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ภายในรอบการประเมิน จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู และยกระดับคุณภาพของสถานศึกษา โดยสะท้อนให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังของตำแหน่งและวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน

ข้อตกลงในการพัฒนางาน(PA) ดังกล่าว ในหลักเกณฑ์การประเมินฯ กำหนดให้มี ๒ ส่วน กล่าวคือ

ภาพ ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

ส่วนที่ ๑ ข้อตกลงในการพัฒนาตามมาตรฐานตำแหน่ง ประกอบด้วย ๑) การปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และมีภาระงานตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ๒) ผลการปฏิบัติงาน ด้านการบริหารวิชาการและการเป็นผู้นำทางวิชาการ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ด้านการบริหารชุมชนและเครือข่าย และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ

ส่วนที่ ๒ ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษาต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับประยุกต์  แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ข้อตกลงในการพัฒนางานต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ

ในการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตรงประเด็นนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ขอบข่ายและประเด็นลักษณะงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำหนดไว้แล้วในมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔

ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา มี ๒ ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้ง ๒ ตำแหน่ง มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการบังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร ในสถานศึกษารองจากผู้อำนวยการสถานศึกษาและช่วยปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการ บริหารจัดการสถานศึกษา บริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม บริหารงานชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการบังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร ในสถานศึกษา ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการ บริหารจัดการสถานศึกษา บริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม บริหารงานชุมชนและเครือข่าย รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษา

ลักษณะงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษา (ขอเรียกว่าขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษา) เป็นการปฏิบัติงาน(ผู้อำนวยการสถานศึกษา) หรือช่วยปฏิบัติงาน (รองผู้อำนวยการสถานศึกษา) ที่เกี่ยวกับ ๑) การบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการ ๒) บริหารจัดการสถานศึกษา ๓) บริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ๔) บริหารงานชุมชนและเครือข่าย และ ๕) พัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งต้องบูรณาการงานทั้ง ๕ ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน

โดยในแต่ละด้าน (ขอบข่ายงาน) และเรื่องย่อยของแต่ละด้าน (ประเด็นภาระงาน) มีดังนี้

๑.ด้านการบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการ

          ๑.๑ พัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ วางแผน ตรวจสอบ ทบทวน และพัฒนาหลักสูตร ประสานงานวิชาการ และนำหลักสูตรไปใช้ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ

          ๑.๒ ปฏิบัติการสอน พัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ วัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ คุณลักษณะอันพึงประสงค์และมีความพร้อมในการดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

          ๑.๓ ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนา หรือการนำสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดและสร้างนวัตกรรมได้

          ๑.๔ นิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล การจัดการเรียนรู้ของครู โดยส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างและสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

          ๑.๕ ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

          ๑.๖ จัดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

๒. ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา

          ๒.๑ บังคับบัญชาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา และบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ

          ๒.๒ บริหารบุคคล บริหารงบประมาณ และบริหารทั่วไปของสถานศึกษา ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเป็นไปตามหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

          ๒.๓ ส่งเสริมและพัฒนา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ให้มีสมรรถนะเต็มตามศักยภาพ โดยเน้นทักษะการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่น และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยวิธีการต่างๆอย่างเหมาะสม

          ๒.๔ บริหารกิจการผู้เรียน จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและลักษณะอันพึงประสงค์

          ๒.๕ จัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนให้มีโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ

          ๒.๖ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสถานศึกษา(เฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา)

๓. ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม

          ๓.๑ กำหนดนโยบาย แผน กลยุทธ์ในการพัฒนาสถานศึกษาร่วมกับครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และเครือข่าย โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นฐาน เพื่อเป็นแนวทางเชิงรุกในการพัฒนาสถานศึกษา และคุณภาพผู้เรียน

          ๓.๒ นำนโยบาย แผน กลยุทธ์ในการพัฒนาสถานศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุน กำกับและติดตาม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนที่กำหนด

          ๓.๓ สร้างหรือนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาหรือผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต

          ๓.๔ สร้างการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมในสถานศึกษา ให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษาอย่างยั่งยืน

๔. ด้านบริหารงานชุมชนและเครือข่าย

          ๔.๑  สร้างและพัฒนาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับผู้เรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้อง ชุมชนและเครือข่าย เพื่อพัฒนาผู้เรียน เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม การดูแล ช่วยเหลือและพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน

          ๔.๒ จัดระบบการให้บริการในสถานศึกษา ประสานความร่วมมือกับชุมชนและเครือข่าย ในการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชน และงานจิตอาสา เพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่ผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน และเสริมสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น

๕. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ

          ๕.๑ พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ โดยเฉพาะอย่ายิ่งการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร สมรรถนะทางวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา และความรอบรู้ในการบริหารงานให้สูงขึ้น

          ๕.๒ มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำในการเป็นผู้นำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการการจัดการเรียนรู้และการจัดการศึกษา

          ๕.๓ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนา การบริหารจัดการสถานศึกษา รวามถึงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพครู และนักเรียน

          ๕.๔ สร้างและสนับสนุนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

ระดับความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงาน

ในทำนองเดียวกัน การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษานั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องพัฒนางานให้สอดคล้องกับระดับความคาดหวังในคุณภาพงานของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้น ๆ และlสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือ

ความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงานของตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาทั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานการปฏิบัติงาน(ผู้อำนวยการสถานศึกษา) หรือช่วยปฏิบัติงาน (รองผู้อำนวยการสถานศึกษา) ด้านการบริหารวิชาการและความเป็นผู้นำทางวิชาการ ด้านบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม ด้านบริหารงานชุมชนและเครือข่าย โดยในแต่ละวิทยฐานะมีระดับความคาดหวังที่แตกต่างกัน ดังนี้

          ๑. วิทยฐานะชำนาญการ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการและแก้ปัญหาการบริหารงานทุกด้าน มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษา รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

          ๒. วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการและแก้ปัญหาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  เพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาให้สูงขึ้น  รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี

๓. วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการและแก้ปัญหาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา และนำไปเผยแพร่ได้ มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาให้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และให้คำปรึกษากับผู้อื่น

๔. วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีการริเริ่มดำเนินการและแก้ปัญหาการบริหารงานทุกด้าน มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และงานวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา เผยแพร่และขยายผลในวงวิชาชีพ เป็นแบบอย่างและเป็นที่ยอมรับ  มีการบริหารงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาให้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี ให้คำปรึกษากับผู้อื่น และเป็นผู้นำ

กล่าวโดยสรุป มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษา เป็นเรื่องสำคัญและกำหนดให้เป็นกรอบการประเมินฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือ เกณฑ์ PA ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ ปฏิบัติ และพัฒนางาน ให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ และระดับความคาดหวังในแต่ละตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นๆ

บวร  เทศารินทร์

อ้างอิง

๑. มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔

๒. หลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๑๐ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๓. หลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสายงาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๙- ว ๑๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: