สวัสดิการและประโยน์เกื้อกูลที่ได้จากรัฐเมื่อมาเป็นข้าราชการ

สิทธิประโยชน์เปิดข้อดีของการเป็น “ข้าราชการ” นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเป็นการตอบแทนแล้ว ยังมี “สวัสดิการ” และ “ประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ” อะไรอีกบ้าง ที่ทำให้ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในเวลานี้

“ข้าราชการ” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เนื่องจากนอกจากจะได้รับค่าตอบแทนตามค่าของงานในแต่ละตำแหน่งแล้ว ยังมี “สวัสดิการ” และ “ประโยชน์เกื้อกูล” ต่างๆ ที่ทำให้ข้าราชการมีสิทธิประโยชน์ สะดวกสบาย และมีความมั่นคง โดยสิทธิประโยชน์ที่ ข้าราชการไทย จะได้รับเมื่อได้บรรจุเป็นข้าราชการ มีดังนี้

“สวัสดิการ”

สวัสดิการ คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ราชการในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กร เพื่อช่วยให้มีความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผล โดยสวัสดิการของข้าราชการพลเรือนสามัญมีทั้งที่กำหนดให้เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนี้

สิทธิในการลา

  การลาของข้าราชการ แบ่งออกเป็น 11 ประเภท ดังต่อไปนี้

  1. การลาป่วย ตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองของแพทย์, การลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ไม่ว่าจะเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอํานาจจะสั่งให้มีใบรับรองของแพทย์ตามวรรคสามประกอบใบลา หรือสั่งให้ผู้ลาไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตก็ได

   2. การลาคลอดบุตร ไม่เกิน 90 วัน
   3. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทําการ

   4. การลากิจส่วนตัว เช่น ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทําการ
   5. การลาพักผ่อน ข้าราชการสามารถลาพักผ่อนประจําปี ในปีงบประมาณหนึ่งได้ 10 วันทําการ (เว้นแต่รับราชการยังไม่ถึง 6 เดือน)
   6. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ไม่น้อยกว่า 60 วัน
   7. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล แล้วแต่กรณี
   8. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน แล้วแต่กรณี
   9. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
   10. การลาติดตามคู่สมรส ลาได้ ไม่เกิน 2 ปี และในกรณีจําเป็นอาจอนุญาตให้ลาต่อได้อีก 2ปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี พิจารณาแล้วแต่กรณี
   11. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ สามารถลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพครั้งหนึ่งได้ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรที่ประสงค์จะลา แต่ไม่เกิน 12 เดือน (กรณีได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทําการตามหน้าที่ จนทําให้ตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ)

เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล ดังต่อไปนี้

    1. ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือดหรือ สารทดแทน ค่าน้ํายาหรืออาหารทางเส้นเลือด ค่าออกซิเจน และอื่นๆ ทํานองเดียวกันที่ใช้ในการบําบัดรักษาโรค

     2. ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบําบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซมอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ดังกล่าว

     3. ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการทางการพยาบาล ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมแพทย์พิเศษ ค่าจ้างผู้พยาบาลพิเศษ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าบริการอื่น ทํานองเดียวกันที่มีลักษณะเป็นเงินตอบแทนพิเศษค่าตรวจครรภ์ ค่าคลอดบุตรและการดูแลหลังคลอดบุตร

      4. ค่าห้อง และค่าอาหาร ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล

      5. ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค

      6. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ

      7. ค่าใช้จ่ายอื่นที่จําเป็นแก่การรักษาพยาบาล ตามที่กระทรวงการคลังกําหนด

      ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลข้างต้นจะต้องเป็นข้าราชการ อีกทั้งครอบคลุมบุคคลในครอบครัว ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้

      – ข้าราชการและลูกจ้างประจํา ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจําจากเงินงบประมาณรายจ่าย งบบุคลากรของกระทรวง ทบวง กรม เว้นแต่ข้าราชการตํารวจชั้นพลตํารวจซึ่งอยู่ในระหว่างรับการศึกษา อบรมในสถานศึกษาของสํานักงานตํารวจแห่งชาติก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการประจํา

      – ลูกจ้างชาวต่างประเทศ ซึ่งมีหนังสือสัญญาจ้างที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย และสัญญาจ้างนั้นมิได้ระบุเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลไว้

      – ผู้ได้รับบํานาญปกติหรือผู้ได้รับบํานาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายว่าด้วย บําเหน็จบํานาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ และทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด

     – บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

     – คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ

     – บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ

เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร

     ข้าราชการมีสิทธิได้รับสวัสดิการ “ค่าเล่าเรียนของบุตร” ที่ชอบด้วยกฎหมายอายุที่ไม่เกิน 20 ปีได้สูงสุด 3 คน นับเรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ไม่ว่าเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งใด หรืออยู่ในอำนาจปกครองของตนหรือไม่

        – บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่า อนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงิน บำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่ กระทรวงการคลังกำหนด คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

       – บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ ได้รับเงินบำรุงการศึกษาเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่ กระทรวงการคลังกำหนด

       – บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับไม่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กำหนด

        – บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่สูงกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่า และหลักสูตรนั้นแยกต่างหากจากหลักสูตร ระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตาม ประเภทและไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด

        – บุตรที่ศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้ได้รับเงิน ค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามประเภทและไม่เกินอัตราที่ กระทรวงการคลังกําหนด 

เงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ

    ข้าราชการหรือลูกจ้างประจําซึ่งมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงาน ประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ หากได้รับคําสั่งให้ไปปฏิบัติราชการนอกสํานักงานเกิน 15 วัน

กองทุนบําเหน็จ บํานาญข้าราชการ

    กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) เป็นหลักประกันชีวิตของข้าราชการในวันเกษียณ โดยมีการจ่ายบําเหน็จบํานาญ และให้ผลประโยชน์ ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์ของ สมาชิก จัดสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิกโดยกองทุนจะนําเงินไปลงทุนเพื่อหา ผลประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สมาชิก ซึ่งอัตราบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับจะคำนวณตามขั้นรายได้ และอายุการทำงาน

“ประโยชน์เกื้อกูล”

ประโยชน์เกื้อกูล คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผล ได้แก่

-ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ

-ค่าเช่าบ้าน

-เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ

-รถราชการ 

-โทรศัพท์ของทางราชการที่อนุมัติให้ใช้เป็นรายบุคคล

 

ที่มา: สำนักงาน ก.พ.

Leave a Reply