หากเป็นประธานเปิดงานและให้บรรยายพิเศษโดยไม่ได้เตรียมตัวเลย ท่านจะพูดอะไร

เมื่อท่านได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการเปิดการอบรม สัมมนา หรือเปิดงานต่างๆ อะไรสักอย่าง ในลักษณะที่เป็นงานวิชาการต้องมีการให้กล่าวหรือพูดต่อหน้าชุมชน  และหรืออาจให้ท่านบรรยายพิเศษด้วย  ในบทบาทที่ท่านเองเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้บริหารหน่วยงานนั้น หรือได้รับมอบหมายจากผู้บริหารหน่วยงาน

เชื่อว่า หากยังขาดประสบการณ์เราท่านคงลำบากใจ ยิ่งหากไม่ได้มีการเตรียมตัว ถูกเชิญหรือได้รับมอบหมายแบบกะทันหัน ลักษณะอย่างนี้คงเป็นที่ลำบากใจ ตื่นเต้น ประหม่า พูดตะกุกตะกักแน่  แต่หากเป็นผู้มีประสบการณ์ ผ่านงาน ผ่านเวทีลักษณะอย่างนี้มาพอสมควร คงไม่เป็นที่ลำบากใจนัก สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผ่านพ้นไปได้

มีวิธีหนึ่งที่ผู้รู้ได้เคยแนะนำผมว่า หากเราได้รับเชิญเป็นประธานเปิดงาน และหรือให้บรรยายพิศษ หากไม่ได้เตรียมตัวเลย ท่านว่าให้นำชื่อเรื่องของงานนั้นๆ มาเป็นประเด็นในการพูดและอาจขยายความในประเด็นนั้นๆ ตามที่เรามีความรู้และประสบการณ์ จะเป็นประโยชน์และตรงวัตถุประสงค์ของงานดีกว่าบรรยายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน ซึ่งความจริงก็ทำได้ เพราะเป็นบรรยายพิเศษ (ในนิยามตามใจที่อยากจะพูดเป็นพิเศษ)

ผมขอยกตัวอย่าง วันหนึ่งผมได้รับเชิญจากหน่วยงานหนึ่งให้เป็นประธานการเปิดประชุมออนไลน์และบรรยายพิเศษด้วย โดยมีเวลา 45 นาที ภานใต้โครงการ “การอบรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรพัฒนาครูผู้ช่วยสู่เส้นทางครูมืออาชีพ”  ซึ่งผมเองเพิ่งทราบเมื่อคืนนี้ก่อนเที่ยงคืนหลังเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร และงานพรุ่งนี้เช้า เวลาเก้าโมงตรง ซึ่งผมเองก็คงไม่มีเวลาในการศึกษา ค้นคว้า สาระที่เกี่ยวกับโครงการ เนื้อหา ทั้งๆ ที่ผู้ประสานก็ให้หนังสือเล่มโตมา เพราะต้องนอนพักผ่อนให้หายเหนื่อย มีพลังสู้งานในวันพรุ่งนี้

ผมเองก็ต้องนำแนวทางที่ผู้รู้ได้บอกไว้ มาสังเคราะห์ว่าจะนำเสนอประเด็นใด ในการบรรยาย และจะใช้เวลาโดยประมาณ ประเด็นละเท่าใด พบว่า มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น และตั้งประเด็นการนำเสนอในลักษณะเป็นคำถาม  คือ

1) ทำไมต้องการประชุมออนไลน์

2) ทำไมต้องพัฒนาครูผู้ช่วย

3) ครูมืออาชีพมีลักษณะอย่างไร

โดยให้นำหนักในสาระและเวลาที่ประเด็น ครูมืออาชีพมีลักษณะอย่างไรให้เวลา 20 นาที ส่วนสองประเด็นที่เหลือให้เวลาเท่ากัน คือประเด็นละ5 นาที  ส่วนเวลาก่อนหน้านั้นใช้กับการอ่านหรือพูดตามนัยที่เป็นโพยคำกล่าวการเปิดงานที่พูดจัดทำไว้ให้ (ตามมารยาทเพื่อให้เกียรติหน่วยงาน จะไม่อ่านก็กระไรอยู่)

ทำไมต้องการประชุมออนไลน์?

กล่าวถึงพัฒนาการและความจำเป็นของการประชุมด้วยระบบออนไลน์  ข้อดีข้อเสียของการประชุมออนไลน์ เครื่องมืออการประชุมออนไลน์  สัมฤทธิผลของการประชุมออนไลน์ สถานการณ์เร่งให้มีการประชุมออนไลน์ เช่น การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งอาจนำข้อมูลที่รู้มาขยายความประกอบการบรรยาย

ทำไมต้องพัฒนาครูผู้ช่วย?

กล่าวถึง หลักการแนวคิดในการพัฒนา  หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกฎหมายในการที่ต้องพัฒนาครูผู้ช่วย รูปแบบการพัฒนาครูผู้ช่วย ความคาดหวังหลังจากการพัฒนา

ครูมืออาชีพมีลักษณะอย่างไร?

หากกรณีมีความรู้ มีประสบการณ์ ก็นำคุณลักษณะกรณีศึกษา กรณีตัวอย่างของครูมืออาชีพ ตามที่นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ให้ไว้และศึกษามา ตรงนี้จะทำให้เพิ่มสาระที่สมบูรณ์ น่าสนใจ ยิ่งขึ้น แต่หากขาดในส่วนนี้ไป คิดอะไรไม่ออก พื้นฐานเลยนำประเด็น “มาตรฐานตำแหน่งของครู” มาบรรยายเพราะแท้ที่จริงหากครูปฏิบัติตนได้ตามมาตรฐานตำแหน่ง นั่นแหล่ะคือ “ครูมืออาชีพ” ที่เป็นรูปธรรมที่สุด

มาตรฐานตำแหน่งของครู

มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นกรอบในการปฏิบัติงานเพื่อยกระดับคุณภาพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในอันที่จะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน

มาตรฐานตำแหน่ง ประเภท ผู้สอนในหหน่วยงานทางการศึกษา สายงานการสอน ตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย และครู”

มีลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ สรุปได้ดังนี้

     1) การจัดการเรียนรู้  เช่น

   – วิเคราะห์หลักสูตร ทำแผนการจัดการเรียนรู้

   – ปฏิบัติการสอนหรือจัดการเรียนรู้

   – จัดหา จัดทำ ใช้สื่อ แหล่งเรียนรู้

   – วัดและประเมินผลการเรียนรู้

   – จัดบรรยากาศให้เอื้อการเรียนรู้

   – อบรมบ่มนิสัยผู้เรียน

2) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน เช่น

   -ทำข้อมูลสารสนเทศผู้เรียนและรายวิชาเรียน

   – ดำเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

   – ร่วมจัดทำและดำเนินงานโครงการวิชาการของโรงเรียน

   – ประสานร่วมมือกับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องพัฒนาผู้เรียน

3) พัฒนาตนเองและวิชาชีพ  เช่น

   -ศึกษาค้นคว้า อบรม โดยเฉพาะทักษะที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่

   – แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC

   – นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาการจัดการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียน

4) ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น

   – รับผิดชอบโครงการวิชาการ

   – ปฏิบัติงานด้านการเงิน บัญชี พัสดุ

5) เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม (ครูผู้ช่วย)

   – ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

ซึ่งแน่นอน ในสภาพความเป็นจริง เราจำและพูดประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ครบถ้วนแน่ เราก็เรานำเฉพาะประเด็นที่ระลึกได้มาบรรยาย ขยายความเรื่องที่ตนเองรู้ดี เหลือบดูเวลา คิดว่า 30-45 นาที อาจจะน้อยไป

อย่าลืมนะครับว่า การถูกเชิญเป็นประธานเปิด หรือบรรยายพิเศษ มีกรอบเวลากำหนด และมีกำหนดการบรรยายของวิทยากรท่านอื่นถัดไป  การเป็นประธานที่ดีหรือเป็นวิทยากรที่ดี  “ต้องรักษาเวลาและไม่กินเวลา” วิทยากรท่านอื่น

บวร   เทศารินทร์

6/25/2021

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: