ครูคิดว่าสอนให้นักเรียนท่องจำนั้นไม่ดี สอนให้เข้าใจจะดีกว่า หรือสอนการหาความรู้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้อยู่กับตัว
นักเรียนเลยไม่ชอบการจำ…จำไม่ได้ว่าได้เรียนรู้อะไร…จำไม่ได้ว่าหาความรู้ได้ที่ใหน…ไม่มีความรู้อยู่กับตัว…
เมื่อถึงคราวที่ต้องใช้ความรู้อย่างรวดเร็วจึงมีการตอบสนองเหมือนคนไม่มีความรู้หรือไม่มีการศึกษาทั้ง ๆ ที่มีปริญญา…
การท่องจำทำให้ระลึกได้อย่างเร็ว มีการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติ…กลับมาท่องอาขยาน อ่านนิทานร้อยบรรทัดกันดีกว่า…
การเรียนแบบท่องจำนั้นถูกโจมตีจากนักการศึกษาในปัจจุบันว่าไม่สร้างปัญญาให้กับผู้เรียน เป็นการสอนแบบเก่า ล้าสมัย นักเรียนท่องเนื้อหาที่เรียนได้แบบนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้ความหมายเป็นสิ่งไม่ดีในกระบวนการของการเรียนการสอน ดังนั้นการท่องบทอาขยาน อ่านนิทานร้อยบรรทัด จึงไม่มีในหลักสูตรและการเรียนการสอนในปัจจุบัน ความคิดนี้ถูกสั่งสอนถ่ายทอดไปยังอาจารย์มหาวิทยาลัยในคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ที่เป็นครูของนักศึกษาครูซึ่งเป็นผู้ที่จะจบออกไปเป็นครู และสุดท้ายกระบวนการไม่ชอบการจำถูกถ่ายทอดไปถึงนักเรียน และไปถึงประชาชน คนไทยเลยไม่ชอบจำ และมีทัศนะไม่ดีต่อการจำ รวมทั้งไม่สนใจเรื่องราวที่ต้องใช้ความจำ เช่น ประวัติศาสตร์ อีกด้วย
ความสับสนระหว่างการสอนให้ “ท่องจำ” กับการสอนให้ “จดจำ” ของครูจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้นักเรียนไม่ชอบการจำและคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องจำ การสอนให้จำไม่สำคัญเท่ากับการสอนให้เข้าใจ ยิ่งปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ช่วยบันทึกข้อมูลช่วยจำได้มาก และมี Internet ช่วยสืบค้นจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วจึงสนับสนุนการ “ไม่ท่องจำ” และ “ไม่จดจำ” ขึ้นมาอีก เดี๋ยวนี้หลายคนจำเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญของตัวเองไม่ได้ เพราะบันทึกไว้ในเครื่องโทรศัพท์ให้ช่วยจำไว้ให้ เมื่อเครื่องโทรศัพท์มีปัญหาหรือสูญหายก็ไม่สามารถติดต่อใครได้เพราะไม่ได้จำไว้ในสมอง
กระบวนการเรียนการสอนปัจจุบันไม่ให้ความสำคัญของการจำ นักเรียนจึงไม่มีความรู้ติดตัว ไม่มีอะไรในสมอง เรียนจบก็ผ่านไป ไม่จดจำอะไรไว้จำไม่ได้ว่าความรู้อยู่ที่ไหน รวมทั้งจำไม่ได้ว่าได้เคยเรียนรู้อะไรและอย่างไรอีกด้วย เมื่อถึงคราวที่ต้องใช้ความรู้อย่างทันทีทันใด จึงมีการตอบสนองเหมือนคนไม่มีความรู้หรือเป็นคนไม่มีการศึกษาทั้ง ๆ ที่จบปริญญา หรือมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถจากสถาบันการศึกษา
ตัวอย่างบทอาขยานฝึกการท่องจำ
คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักบทอาขยานข้างล่างนี้ บทอาขยานช่วยฝึกสมองและส่งเสริมการจำได้อย่างดีดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. วิชาเหมือนสินค้า
“วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา
จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง
สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
ขี้เกียจเป็นปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
จึงจะได้สินค้ามา เป็นวิชาอันพิสมัย
จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา”
หมายเหตุ ล้าต้า คือคนถือบัญชีเรือสำเภา
2. การใช้คำ “บัน” และคำ “บรร”
“บันดาล ลงบันใด บันทึกให้ ดูจงดี
รื่นเริงบันเทิงมี บันลือลั่นสนั่นดัง
บันโดย บันโหยไห้ บันเหินไป จากรวงรัง
บันทึงถึงความหลัง บันเดินนั่งนอนบันดล
บันกวดเอาลวดรัด บันจวบจัด ตกแต่งตน
คำ “บัน” นั้นฉงนระวังปนกับ ร หัน
บรรจุอีกบรรดา บรรเทามา หาบรรยาย
บรรลุไม่วุ่นวาย บรรลัยตาย บรรเจิดงาม
บรรจบ บรรทมนอน บรรจงก่อน บรรหารตาม
บรรทัด บรรทุกน้ำ บรรพตข้าม บรรพชา
3. การใช้สระ “ใ ” (สระไอไม้ม้วน)
“ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี”
จากการท่องจำคำที่ใช้การสกดด้วย “บัน” หรือ “บรร” และการใช้ “สระไอไม้ม้วน” สามารถท่องจำและนำไปใช้ได้อย่างทันทีทันใด
นอกจากนี้การท่องสูตรคูณก็จัดว่าเป็นการเรียนแบบท่องจำอีกเช่นกัน เพราะคนที่ท่องได้อาจไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ท่องจำ แต่อย่างไรก็ตาม การท่องจำนั้นยังมีประโยชน์ในการเรียนการสอนเพราะเป็นการเสริมสร้างระบบการตอบสนองอย่างทันทีทันใดให้กับผู้เรียน และเป็นการเรียนรู้ที่ง่ายมาก และที่สำคัญการเรียนรู้ในบางอย่างนั้นวิธีการที่ง่ายและเร็วที่สุดคือการท่องจำ
ลองทบทวนความจำของท่านดูซิว่า สิบสองคูณเก้าเป็นเท่าไร? บางท่านได้คำตอบทันที นั่นมาจากการท่องจำ
ความแตกต่างของการท่องจำกับการจดจำ
“การท่องจำ” กับ “การจดจำ” นั้นคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะการท่องจำจะสามารถทวนคำที่จำได้ครบถ้วนแบบคล่องปาก แต่การจดจำเป็นการระลึกได้จากความทรงจำ ไม่ต้องมีสภาพของความคล่องปากและความเป็นอัตโนมัติ และอาจไม่สามารถทวนซ้ำด้วยวาจาได้อีกเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่การท่องจำจะทวนซ้ำคำเดิมด้วยปากเปล่าได้เหมือนเดิมทุกครั้งไป อย่างไรก็ตามทั้งการท่องจำและการจดจำใช้พื้นฐานของการทำงานของสมองเหมือนกัน คนสมองดีจำได้ดี ทั้งการท่องจำและการจดจำ
สำหรับผู้เรียนบางคนที่ไม่สามารถจะเข้าใจในเนื้อหาบางเรื่องในเวลาที่เรียนขณะนั้นได้ การท่องจำให้เกิดเป็นระบบการตอบสนองอัตโนมัติติดตัว จึงเป็นหนทางของการเรียนรู้ในขณะนั้นได้ และเมื่อเวลาผ่านไปผู้เรียนมีวุฒิภาวะพร้อม อาจกลับมาเข้าใจเนื้อหาที่ครั้งหนึ่งไม่สามารถเข้าใจได้อีกด้วย เพราะเขาจดจำสิ่งที่ท่องจำไว้ได้
ประโยชน์ของการท่องจำ
การเรียนในบางสาขาวิชายังมีความจำเป็นต้องท่องจำอยู่มาก ผู้เรียนบางท่านไม่อาจเข้าใจได้หรืออาจไม่ทราบความหมายที่เรียนในขณะเรียน แต่จำเป็นต้องเรียนในเนื้อหานั้น การใช้วิธีท่องจำจึงเป็นวิธีการเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเนื้อหานั้น โดยเฉพาะเนื้อหาประเภทที่ต้องใช้ความจำ เช่น กฎหมาย สูตรทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และภาษา เป็นต้น ผู้เรียนต้องท่องจำไว้ก่อนเพื่อการสอบ
การสวดมนต์ เป็นภาษาบาลี ก็เป็นการท่องจำ ส่วนมากแล้วนักเรียนสวดมนต์เป็นภาษาบาลีโดยไม่รู้ความหมาย การอาราธนาศีล การรับศีล แม้ชาวพุทธเองส่วนหนึ่งก็ไม่รู้ความหมาย แต่สามารถท่องได้ จำได้หรือบางทีแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีเพราะวุฒิภาวะยังไม่ถึงที่จะเข้าใจได้ แต่สามารถท่องจำได้
อุทาหรณ์
ขอยกอุทาหรณ์เด็กอายุ 5 ขวบ คนหนึ่งสามารถท่องศีล 5 ได้ถูกต้อง แต่ไม่รู้ความหมายที่ท่อง ถึงแม้จะแปลเป็นภาษาไทยในแต่ละข้อแล้วก็ยังไม่เข้าใจได้ครบทุกข้อ เช่น ศีล ข้อที่ 3 นั้น เด็ก 5 ขวบไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และเชื่อว่าถึงจะมีครูที่เก่งขนาดไหนจะมาอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ต้องรอเวลาให้เขามีวุฒิภาวะ หรือโตพอจะเข้าใจเรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์เสียก่อน เพราะเด็กวัยนั้นยังไม่มีวุฒิภาวะเรื่องนี้ แต่พอถึงเวลาที่เขามีวุฒิภาวะแล้ว เขาก็จะเข้าใจและก็ยังจำได้เพราะมีการท่องจำจนคล่องปาก มีการตอบสนองอย่างอัตโนมัติเมื่อมีการรับศีล เขาจะว่าตามได้อย่างถูกต้องและเข้าใจครบทุกข้อ
จากอุทาหรณ์เด็ก 5 ขวบดังกล่าว พอจะอธิบายได้ว่า การเรียนรู้บางเรื่อง บางเนื้อหานั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างทันทีทันใดได้ การให้ท่องจำไว้ก่อน รอวันที่ผู้เรียนจะพร้อมที่เรียนรู้ได้นั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ของการเรียนแบบท่องจำอีกเช่นกัน
บทสรุป
การท่องจำเป็นการฝึกสมอง ทำให้สามารถระลึกได้อย่างเร็ว มีการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติ การสอนให้ไม่ต้องจดจำเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ผู้ที่เป็นครูของครู หมายถึง คณาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ หรือ คณะครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเพิ่มการเอาใจใส่ให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นครูได้เข้าใจในเรื่องของความจำให้ถูกต้อง และสั่งสอนวิธีการที่จะส่งเสริมให้มีกระบวนการสอนที่เสริมสร้างความจำให้กับนักเรียน “เพราะนักศึกษาที่จบไปเป็นครูหรือครูประจำการในโรงเรียนจำไม่ได้ว่าท่านสอนอะไรไปบ้าง”
ให้เด็กรุ่นใหม่กลับมาท่องอาขยาน และอ่านนิทานร้อยบรรทัดกันดีกว่า อาจช่วยยกระดับความสามารถในการจำให้กับประชาชนได้ เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนว่า ประชาชนคนไทยมักไม่ค่อยจะจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมีทัศนะที่ไม่ชอบจะจดจำเสียด้วย จึงมักได้ยินคำว่า “เจ็บแล้วไม่จำ” อยู่บ่อย ๆ
บทความโดย ; กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ที่มา ; ไทยรัฐออนไลน์ 29 มี.ค. 2553