5 คานงัดในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูฯ

สืบเนื่องจากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตครูที่ต้องนำนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่รัฐกำหนดไปปฏิบัติในการผลิตและพัฒนาครูฯ มีหนังสือขอสนับสนุนการกำหนดเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมติที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เห็นชอบให้มีการลงนามความร่วมมือข้อตกลง (MOU) ระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยกับสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

       1) พัฒนาคุณภาพการผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์

       2) ประเมินผู้ขอรับการประเมินวิทยฐานะ

       3) พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานวิทยฐานะ

       4) พัฒนาเกณฑ์วิทยฐานะ และ 5) เรื่องอื่น ๆ

ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีอำนาจและหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเสนอแนะนโยบาย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย

ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีนโยบายเร่งด่วน (5 คานงัด) ในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย

       1) การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะใหม่

       2) การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะ ควบคู่กับระบบการประเมินเงินเดือน

       3) การปรับระบบการพัฒนาผู้บริหารก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง

       4) การกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

       5) การวางแผนการผลิตและระบบคัดกรองครูที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา

ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน (5 คานงัด) ในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หากได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำด้านการศึกษาและวิชาการ ด้านการพัฒนางานวิจัย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากสถาบันหรือหน่วยงานทางวิชาการที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากสังคม จะทำให้การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการสรรหาที่ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบการผลิตครูการสนับสนุนในการเป็นกรรมการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งในรูปแบบใหม่ การออกแบบหลักสูตรที่จะนำมาใช้ในแต่ละด้าน รวมทั้งการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของทางราชการ จึงเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. รับการสนับสนุนทางวิชาการและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการขอรับการสนับสนุนทางวิชาการและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

ที่มา ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: