เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้ร่วมงานเสวนางานนึง ที่มีการถกกันในเรื่องของการศึกษาของไทย พอนึกย้อนไปก็อยากจะสรุปประเด็นที่เราพูดถึงในงานเสวนานั้น ที่แม้ว่า 2 ปีผ่านไป ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ประเทศไทยมีแผนและนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาตลอด แต่เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากใช้แผนหรือนโยบายทั้งหลายกลับห่างไกลจากเป้าหมายหรือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นตามแผนและนโยบายเหล่านั้นเหลือเกิน
ส่วนหนึ่งของเหตุแห่งกับดักความเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไทยไม่สามารถก้าวผ่านกลายเป็นประเทศ advance economy แบบจีนหรือเกาหลีใต้ ก็เพราะความไม่พร้อมของทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ นั่นก็คือ มนุษย์ หรือในเชิงสังคมเราเรียกกันว่าประชากร และในเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรม เราเรียกว่าแรงงาน
เรามีระบบการศึกษาที่เด็กมีจำนวนปีการศึกษาที่เป็นภาคบังคับหรือกึ่งบังคับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ จากที่ต้องเรียน 4 ปี เป็น 6 ปี ขยับมาเป็น12 ปี และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เด็กในเมืองหลวงหรือตัวเมืองของจังหวัดจะอยู่ในระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า16 ปี
คำว่า “กึ่งบังคับ” ในที่นี่หมายถึงการทำตามๆ กันไปภายในสังคม กลายเป็นเรื่องปกติที่เรียกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น ไม่ได้กำหนดไว้ในกฏหมายว่าต้องเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาล หรือได้รับการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี แต่ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะพยายามส่งลูกเข้าเรียนตั้งแต่ยังไม่ 7 ขวบ และกว่าจะเรียนจบปริญญาตรีก็อายุ 22-25 ปี
ที่น่าแปลก คือการอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้นและแทบจะเรียกได้ว่าเด็กไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยยาวนานเกือบจะที่สุดในโลก กลับไม่ได้ช่วยให้แรงงานไทยมีทักษะในการทำงานมากกว่าคนในประเทศอื่น

ทักษะการทำงาน คืออะไร
ทักษะนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้ที่ต้องใช้ในวิชาชีพ ไม่ใช่เพียงเทคนิคหรือความสามารถในการทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่มีทักษะในการนำเสนองาน มีความมั่นใจ มี motivation หรือสามารถจัดการกับความเครียดและบริหารจัดการเวลา ที่ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะเพื่อตัวคุณเอง แต่ยังรวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานเพื่อองค์กร/เพื่อทีม เข่น
การรู้จักพลิกแพลงความรู้ที่เรียนมาเมื่อต้องนำไปใช้จริง ทักษะในการคิด วิเคราะห์ พัฒนางานที่ต้องทำ (Adaptability and Problem solving)
อะไรที่ต่างไปจากหนังสือ จากบทเรียน อาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แต่ไม่ได้เป็นสิ่งอุบัติใหม่ของโลกเสมอไป การรู้จักจับเอาสิ่งที่รู้แล้วเรียนแล้วมาปรับใช้กับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เป็นทักษะที่ฝึกได้
เช่น ใช้ข้อสอบหรือการประเมินผลการเรียนที่เน้น application ของสิ่งที่เรียนในชั้นเรียน ไม่ใช่ข้อสอบที่มาจากบทเรียนหรือหนังสือโดยตรง การให้ทำโปรเจคแบบคิดเองแต่ต้องมีโจทย์ให้ ไม่ใช่ให้ทำอะไรก็ได้ (free form ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะทำให้เด็กไม่สามารถทำงานเมื่อมีโจทย์มีปัญหาให้จัดการ)
การมีจิตใจมุ่งทำงานให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ มิใช่เพียงแค่ทำให้เสร็จๆ ไป (Professionalism, Work Ethics, Attention to Details)
ผู้สอนอาจใช้วิธีให้คะแนนคุณภาพของงานไปพร้อมๆ กับความถูกต้อง ไม่ใช่คะแนนลายมือ อันนั้นไม่เรียกคุณภาพ แต่เรียกว่าช่วยให้อารมณ์ผู้ตรวจไม่พังไปกับการอ่านไม่รู้เรื่อง เราจะบอกเด็กเสมอว่า ถ้ายูอยากได้คะแนนระดับ
หรือเกิน 70 ในวิชาของไอ ยูต้องทำให้ไอเชื่อว่ายูรู้มากกว่าที่ไอสอนในคลาส
การทำงานด้วยความมานะอดทน (Responsibility and Tolerance)
มิใช่ว่าไม่ชอบงานหรือทำไม่ได้ ก็บ่น เกี่ยงงานที่ยากหรือต้องลำบากจึงสำเร็จแต่เลือกเอาเฉพาะงานสบาย คิดลัดอยากรวยเร็ว หรือแม้แต่เปลี่ยนงานเพื่อเลี่ยงภาระหรือความยากลำบากของงาน ใช้สารพัดวิธีขึ้นตำแหน่งให้ไวทั้งที่มีเพียงความสามารถ/ประสบการณ์อันน้อยนิด รวมถึงการให้อามิจสินจ้างเพื่อให้ผู้อื่นทำงานแทนตน
การจงรัก ใส่ใจและซื่อสัตย์ต่องาน ที่ทำงานและผู้ร่วมงาน หรือรวมเรียกว่าการทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม (Attitude and Loyalty)
มิใช่ว่าทำเพียงเพื่ออยู่ไปวันๆ แต่เป็นการทำงานด้วยใจรัก เพราะหากทำงานเพียงเพราะต้องทำ คนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนงานบ่อย เพื่อให้ได้งานที่สบายกว่า งานที่ทำให้รวยเร็วกว่า หรือได้ตำแหน่งสูงกว่า เงินมากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วในระยะงานแค่ 6 เดือน – 1 ปี แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาความรู้ ความชำนาญ อย่างครอบคลุมในงานที่ทำ
สปิริตในการทำงานเป็นทีม (teamwork)
คือ สามารถนำทีมให้ทำงานได้สำเร็จ ในขณะที่ต้องมี contribution ไม่ว่าจะในการทำงานหรือการเสนอความคิดของตน และสามารถยอมรับความเห็นของผู้อื่นในทีม หรือแม้แต่เป็นผู้ตามที่ดี
ไม่กั๊กว่านี่เป็นความคิดของตัวเอง แต่ส่งเสริมการ sharing information/data ร่วมกันคิดร่วมกันถก ในขณะเดียวกันก็ไม่เอาความคิดข้อเสนอของคนอื่นมาเคลมว่าเป็นความคิดเป็นผลงานของตนเอง
ทักษะการรับชอบ/รับผิด (accountability)
น้อยนักที่คนจะยอมรับความผิดพลาดแล้วหาทางแก้ไข เพื่อให้ความพลาดพลั้งมีผลน้อยที่สุด เพราะกลัวการทำโทษ ทั้งที่เรามีคำกล่าวว่า “4 เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” กลายเป็นว่าสังคมไทยมีแต่การรับชอบ และการโยนความผิด และโทษสิ่งอื่นเป็นเหตุของความพลาดผิดที่เกิดขึ้น และปัญหาก็วนเวียนอยู่เช่นนี้
ทักษะเหล่านี้ แทบไม่มีการเรียนการสอนในการศึกษาไทยตลอดตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก
ในขณะที่การศึกษาของไทยไปมุ่งเน้นเพียงด้านความรู้ในเนื้อหาวิชาผ่านจำนวนชั่วโมง/ปีที่อยู่ในห้องเรียน รูปแบบการสอบ และทดสอบนักเรียนผ่านการสอบจำนวนมาก (ยกเว้นในบางโรงเรียนที่จัดตั้งมาเพื่อเป้าหมายพิเศษ)
การศึกษาไทยไม่ได้ออกแบบการเรียนการสอนให้ครอบคลุมทักษะเหล่านี้เพียงพอ ทำให้ผู้จบการศึกษาแม้มีความรู้มีใบรับรองวิชาชีพแต่ไม่มีความพร้อมและความสามารถที่จะนำเอาความรู้ไปใช้ได้จริง ทำให้เกิดปัญหาทักษะของแรงงานไทยไม่ตรงตามความต้องการของตลาด หรือขาดทักษะการทำงานที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนางานที่ทำ ที่ในที่สุดแล้วก็คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ
ป.ล. ในสหราชอาณาจักร Aim, objective, learning ของในแต่ละวิชาจะต้องรวมถึงการพัฒนาทักษะ Employability เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเสมอ
ที่มา ; FB Dr. Nuch Tantisantiwong