ผลสำรวจพบเด็กเสี่ยงป่วยจากเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่ออุปสรรคในการที่บุตรหลานต้องกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง และมุมมองต่อการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ในระยะข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการเรียนออนไลน์ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการศึกษาเพื่อเป็นช่องทางเลือกให้ผู้ปกครองอีกด้วย โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

-ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย เผชิญความไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ ทั้งอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต
แม้การเรียนออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของผู้ปกครองในยุคที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 79.1% ยังพบอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ โดยอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ โดยพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 50.9% ขณะที่การเรียนผ่านแท็บเล็ตคิดเป็น 34.2% และเรียนผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีประมาณ 32.6% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยจะมีปัญหาเรื่องของอุปกรณ์การเรียนอย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน จะเผชิญกับข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์ และบางส่วนมองว่าต้องมีรายจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น (ข้อมูลของ Hootsuite ระบุ ประชากรไทยส่วนใหญ่ครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 98.9% ขณะที่มีคอมพิวเตอร์ (แบบตั้งโต๊ะและพกพา) และแท็บเล็ตคิดเป็น 48.5% และ 34.7% ของกลุ่มประชากรที่มีช่วงอายุ 16-64 ปี ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนไทยที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเติมเงิน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีเพียง 9-10 ล้านคน อีกทั้งผู้ปกครองยังเผชิญปัญหาจากข้อจำกัดเรื่องความรู้ทางเทคโนโลยี ทำให้บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการเรียนออนไลน์ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเรียนออนไลน์อื่นๆ อาทิ ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลานระหว่างการเรียนออนไลน์ รูปแบบการสอนที่ไม่จูงใจทำให้เด็กนักเรียนมีสมาธิไม่เพียงพอ เกิดปัญหาการไม่เข้าใจบทเรียน ความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง และปัญหาสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์

สำหรับมุมมองของผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดต่อการเรียนออนไลน์ มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นและนักเรียนสามารถกลับไปเรียนได้ ทางโรงเรียนอาจจะพิจารณาจัดเรียนเพิ่มเติมวันเสาร์ หรือเพิ่มเวลาเรียนในวันธรรมดา และปรับลดเวลากิจกรรมบางประเภทลงเพื่อไม่ให้กระทบการเรียน

-ในระยะยาวการเรียนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษายังเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองกังวล
เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวมาใช้รูปแบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับการเรียนที่ช่วยให้การสอนออนไลน์เสมือนอยู่ในห้องเรียนจริงมากขึ้น และพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา และในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบการศึกษาออนไลน์ คงจะเข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษามากขึ้น อย่างการเรียนเสริมทักษะเพิ่มเติมทางออนไลน์ หรือเทรนด์การศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่าง Hybrid Homeschooling เป็นรูปแบบการเรียนที่มีการผสมระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนที่โรงเรียนเป็นบางวัน ดังนั้น กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน หลายฝ่ายอาจจะต้องมีการวางแผนและสร้างระบบการเรียนออนไลน์ให้เป็นมาตรฐาน

จากผลสำรวจสะท้อนว่า พบว่า ผู้ปกครองยังมีความกังวลต่อรูปแบบการเรียนออนไลน์ โดยสิ่งที่ผู้ปกครองมีความกังวลมากที่สุด คือ คุณภาพการศึกษา (คิดเป็น 56.4%) เด็กนักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ต้องมีแรงจูงใจและมีทักษะในการบริหารจัดการเวลาเรียน รูปแบบของการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดในการโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน และเหมาะสำหรับบางวิชาที่สอนทฤษฎีแต่จะไม่เหมาะในวิชาที่ต้องมีการปฏิบัติ

ขณะที่ ผู้ปกครองประมาณ 48.2% มองว่า การเรียนออนไลน์ระยะยาวจะส่งผลในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุตรหลาน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น สายตา ของนักเรียนและไม่เหมาะกับเด็กนักเรียนเนื่องจากเด็กต้องมีสังคมและเพื่อน นอกจากนี้ ผู้ปกครองกว่า 37.8% มองในเรื่องของข้อจำกัดและความไม่ปลอดภัยของเทคโนโลยี โดยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำกัด และกังวลต่อภัยที่มากับโลกออนไลน์ เช่น ปัญหาจากไวรัส และมิจฉาชีพ

โดยสรุป สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่ต่อเนื่องในกรุงเทพฯ ทำให้การกลับมาเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิ.ย. 64 ยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในแนวทางลดผลกระทบ คือ การเรียนออนไลน์ ที่จะยังเป็นช่องทางเลือกของการศึกษาแม้ว่าจะมีข้อจำกัด และเพื่อที่จะให้การเรียนผ่านสื่อออนไลน์มีประสิทธิผล ก็อาจจะต้องมีการพัฒนาหรือปรับเนื้อหาให้น่าสนใจอย่างการใช้คลิปวิดีโอประกอบการสอน การเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนแบบเรียลไทม์ (Real Time) รวมถึงการจัดทำคลิปบันทึกการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปดูและทบทวนได้ตลอดเวลา เป็นต้น

สำหรับนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ก็จะเกิดช่องว่างและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งเบื้องต้นทางการอาจจะแจกบทเรียนพร้อมสรุปและแบบฝึกหัด เพื่อให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ นอกจากนี้ อาจจะมีการพัฒนาคอนเทนต์การศึกษาตามหลักสูตรของแต่ละระดับชั้นในช่องทางออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนเพิ่มเติมและทบทวนความรู้ได้ตลอดเวลา และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ปกครองบางกลุ่มที่เผชิญกับปัญหาด้านการเงิน ภาครัฐอาจจะร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจัดแพคเกจอินเทอร์เน็ตพิเศษสำหรับนักเรียนในการเรียนออนไลน์

ท้ายที่สุด โจทย์ในระยะกลางถึงยาว ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น การพัฒนาการศึกษาในระบบให้มีคุณภาพและเท่าเทียม ด้วยการพยายามลดข้อจำกัดและเติมเต็มช่องว่างในทุกๆ ด้านโดยให้ความสำคัญกับพัฒนาการของนักเรียนเป็นหลัก เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินการ

ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มิถุนายน 2564

ข่าวเกี่ยวกัน

หัวอก‘ครู ผู้ปกครอง นักเรียน’ กับการเรียนออนไลน์

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของครู ผู้ปกครอง นักเรียนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,749 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 14-17 มิถุนายน 2564 หัวข้อ “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน กับการเรียนออนไลน์” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดภาคเรียนทั่วประเทศ แต่เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำการเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้ จึงต้องใช้วิธีการเรียนออนไลน์ ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับการเรียนแบบออนไลน์ สรุปผลได้ ดังนี้

1. จากที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ประชาชนคิดว่า ณ วันนี้ มีความพร้อมหรือไม่

ไม่พร้อม 51.35%        

พร้อม 32.33%       

ไม่แน่ใจ 16.32% 

2. ประชาชนคิดว่าการศึกษาไทย ณ วันนี้ พร้อมที่จะเรียนออนไลน์หรือไม่

ไม่พร้อม 63.30%        

พร้อม 21.31%       

ไม่แน่ใจ 15.39%

3. สิ่งที่ “ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไป” กังวลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ คือ   

3.1)  ครู   

อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเทอร์เน็ตช้า 77.18%  

ผู้ปกครองไปทำงาน ไม่มีใครดูแลผู้เรียนที่บ้าน 69.74%  

ผู้เรียนไม่เข้าใจ/เรียนไม่ทัน 67.31%       

3.2)  ผู้ปกครอง 

ไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้น 66.16%   

ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ครูสอน 64.64%    

ผู้เรียนได้ความรู้ไม่เต็มที่ 61.65%                                             

3.3)  นักเรียน  

เรียนไม่เข้าใจ เรียนไม่ทัน 74.25%   

ไม่ได้พบเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน 63.47%     

ได้ความรู้ไม่เท่ากับเรียนในห้องเรียน 62.28%

3.4)  ประชาชนทั่วไป  

ไม่มีสมาธิในการเรียนเท่าที่ควร  65.80%   

ไม่เข้าใจเนื้อหา เรียนไม่ทัน 61.92%   

อุปกรณ์ไม่พร้อม เช่น แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต 60.26%                     

4. สิ่งที่อยากให้ภาครัฐ/สถานศึกษาช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ คือ

อันดับ 1 สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับเรียนออนไลน์ 62.22%

อันดับ 2 มีส่วนลด/ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับผู้เรียน   58.28%

อันดับ 3 มีส่วนลดค่าบำรุงการศึกษา 55.80%

อันดับ 4 จัดการเรียนการสอนโดยเข้าใจถึงความแตกต่างของผู้เรียน 50.30%

อันดับ 5 มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเรียนออนไลน์ 49.57%

5. ประชาชนคิดว่าการเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาระดับชั้นใดมากที่สุด

ระดับปฐมวัย 35.57%    

ระดับประถมศึกษา 33.77%    

ระดับมัธยมศึกษา 23.51%     

ระดับอุดมศึกษา 7.15%

6. ประชาชนคิดว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

แย่ลง 68.52%             

เหมือนเดิม 25.40%             

ดีขึ้น 6.08%             

* หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า เมื่อการเรียนออนไลน์ต้องมาเป็นทางเลือกหลัก แต่ยังมีสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้การเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ครั้งนี้ กลับกลายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ภาครัฐจึงควรสนับสนุนงบประมาณหรืออุปกรณ์ ช่วยเหลือทั้งกลุ่มครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษาไป

ด้าน ดร.เอื้ออารี จันทร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า การเรียนออนไลน์ในชีวิตวิถีใหม่นี้ ควรเป็นโอกาสและความท้าทายใม่ใช่อุปสรรคของการเรียนรู้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องปรับ Digital Mindset ให้รู้คิด รู้ใช้ เข้าใจ เปิดใจ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาล-สถานศึกษา-ครู-ผู้ปกครอง ต้องร่วมมือสร้างความเชื่อมั่นและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ครูต้องปรับและเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานของความเข้าใจพัฒนาการและพฤติกรรมของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย เลือกใช้รูปแบบการเรียนรู้ สื่อ และกิจกรรมที่เหมาะสมและหลากหลาย ปรับรูปแบบเนื้อหาบทเรียนให้สั้นกระชับ ปรับการบ้านหรืองานเป็นงานย่อยๆ (Micro Content) ให้เข้าใจและเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย  สร้างแรงกระตุ้นด้วย Edutainment เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกบทเรียนได้ด้วยตัวเอง ในแบบ “At their own pace”  หากผู้เรียนยังเล็กอยู่ หรือมีสมาธิสั้นเกินกว่าจะเรียนออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุนและติดตามการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง   

ที่มา ; แนวหน้า วันอาทิตย์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: