สิทธิ์ในเงินบำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด เงินช่วยพิเศษ

เราท่านหากเป็นข้าราชการ ไม่จำเป็นก็ไม่อยากเอ่ยปากถึงเรื่องการเสียชีวิตสักเท่าไหร่นัก เพราะถือว่าเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล หากแต่ตามความเป็นจริงแล้วก็เชื่อว่าทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ดี การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตซึ่งไม่มีใครหนีพ้น และบ่อยครั้งที่เราไปร่วมงานฌาปนกิจศพเพื่อนครู ญาติ พี่น้อง หรือคนรู้จัก ในใจย่อมคิดอยู่เสมอว่าชีวิตไม่แน่นอน เราก็เช่นกัน อาจพรุ่งนี้ มะรืน หรืออีกหลายปี ก็ต้องตาย ดังนั้น การเรียนรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของข้าราชการในขณะยังที่มีชีวิตอยู่ รวมถึงผู้รับบำนาญ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเข้าถึงและใช้สิทธิ์ ฯ นั้น ในขณะที่ควรเตรียมการให้เรียบร้อยเมื่อคราวต้องตายไป เพื่อคนอยู่ข้างหลังจะได้ดำเนินการที่ถูกต้อง เรียบร้อย และสมเกียรติ์การเป็นข้าราชการ 

เป็นข้าราชการนี้ดี นอกจากจะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นรายเดือนแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้มีสิทธิ์รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายด้วย  

เงินเดือนเข้าใจได้ไม่ยาก ส่วนค่าตอบแทนรายเดือนนั้น เป็นเงินที่จ่ายควบกับเงินเดือนสำหรับบางตำแหน่งและบางประเภท ขอยกตัวอย่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น สมศรี เป็นครู ค.ศ. 2 นอกจากเงินเดือนแล้ว เขาจะได้รับอีก 3,500 บาท เป็นเงินวิทยฐานะ  สมปอง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จะได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท ค่าตอบแทน(เท่าเงินวิทยฐานะ) อีก 5,600 บาท หรือ บุญนำ เป็นนิติกรชำนาญการพิเศษ จะได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนตำแหน่งประเภทวิชาการ 3,500บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพิเศษ (พ.ต.ก.) ในสายงานนิติการ อีก 6,000 บาท ซึ่งหากปฏิบัติงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะได้ค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ฯ พ่วงอีกด้วย อย่างนี้เรียกว่า “เงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือน” 

สวัสดิการ เป็นสิ่งที่ข้าราชการพึงมีสิทธิ์ได้รับ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาบุตร เงินกู้โครงการแก้ไขหนี้สินครู เงินกู้โครงการ ช.พ.ค. รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นกำหนด  เช่น สวัสดิการเงินกู้  สวัสดิการร้านค้า เป็นต้น 

ส่วนสิทธิประโยชน์ คือ สิ่งที่ข้าราชการจะได้รับจากทางราชการตามสิทธิ์ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน การลาประเภทต่าง ๆ  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การขอพระราชทานเพลิงศพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เบี้ยประชุม ค่าตอบแทนการเป็นกรรมการฯ  เป็นต้น

 เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ หากยังเป็นข้าราชการอยู่ยังคงได้รับสิทธิ์นั้น ๆ  หากเกษียณอายุราชการไปแล้ว ยังได้รับบางรายการ เช่น ผู้รับบำนาญ ก็จะได้รับเงินบำนาญ (กรณีเลือกรับบำนาญ) บำเหน็จดำรงชีพ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ในการขอพระราชทานเพลิงศพ(ทายาท)  เป็นต้น แต่หากเสียชีวิตลงไปถึงแม้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับเจ้าตัวจะหมดไป หากแต่สิทธิ์บางรายการจะเกิดกับทายาท เช่น เงินบำเหน็จตกทอด  เงินช่วยเหลือ 3 เดือน  เงิน กบข. (กรณีเป็นสมาชิก กบข.) เงิน ช.พ.ค. หรือ เงิน ช.พ.ส. ดังที่กล่าวในข้อเขียนที่ผ่านมา (คลิกอ่านข้อเขียนสิทธิใน ช.พ.ค. และสิทธิใน ช.พ.ส.

มาดูกัน บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด และเงินช่วยเหลือ 3 เดือน คืออะไร ใครมีสิทธิ์ในเงินนี้  

บำเหน็จดำรงชีพ คืออะไร? 

บำเหน็จดำรงชีพ คือ เงินที่รัฐจ่ายให้ผู้รับบำนาญขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ (คนละส่วนกับเงินบำนาญ) เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้รับบำนาญในการดำรงชีพให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ โดยให้สิทธิ์ได้รับในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยผู้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ กรณีแรก คือ ผู้รับบำนาญที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับไม่เกิน 200,000 บาท และกรณีที่สอง คือ ผู้รับบำนาญที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับได้ไม่เกิน 400,000 บาท แต่ถ้ารับ 200,000 บาท ไปแล้ว ก็ให้ขอรับเพิ่มไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 400,000บาท (กรณีประสงค์และใช้สิทธิ์ไปแล้ว เงินส่วนนี้จะถูกนำไปหักออกจากเงินบำเหน็จตกทอดเมื่อผู้รับบำนาญเสียชีวิต) ; ขณะนี้แก้กฎหมายให้คนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปได้เพิ่มอีก 100,000 บาบ แล้วตาม กฎกระทรวงกำหนดอัตรา และวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563

ยกตัวอย่าง เช่น ผู้รับบำนาญ เมื่อออกจากราชการได้รับเงินบำนาญเดือนละ 28,000 บาท คำนวณ 15 เท่า เป็นจำนวน 420,000 บาท ขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพตอนออกจากราชการได้ จำนวน 200,000 บาท และเมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ และต้องการขอรับบำเหน็จดำรงชีพเพิ่ม สามารถขอรับเพิ่มได้อีกเพียง 200,000 บาท เนื่องจากรวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท (กรณีนี้หากใช้สิทธิ์เต็มจำนวน เมื่อเสียชีวิตไป ทายาทหรือผู้ระบุสิทธิ์ จะได้บำเหน็จตกทอดเท่ากับ 30 คูณ 28,000 ยอดเต็มเท่ากับ 840,000 แล้วลบด้วย 400,000 เหลือรับจริงเท่ากับ 440,000 บาท)  

ผู้รับบำนาญสามารถใช้สิทธิ์นี้ (ไม่ขอก็ได้) โดยยื่นเรื่องพร้อมกับการขอรับบำนาญปกติ (ใกล้ ๆ เกษียณฯ ทางหน่วยงาน เช่น สนง. เขตพื้นที่การศึกษาฯ จะเรียกไปทำ) หรือ จะขอภายหลังก็ได้ สำหรับการจ่ายเงิน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วทางกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้รับบำนาญโดยตรง  

บำเหน็จตกทอด คืออะไร ?  
บำเหน็จตกทอด คือ เงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการที่เสียชีวิตระหว่างประจำการ หรือ ผู้รับบำนาญบำนาญได้เสียชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตหรือถึงแกกรรมนั้นมิได้เกิดจากการประพฤติชั่วร้ายแรงของตนเอง (เช่น ฆ่าตัวตายหนีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษาอาญาจำคุก เป็นต้น)

หากข้าราชการเสียชีวิตระหว่างประจำการ ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด เท่ากับ เวลาราชการ คูณ เงินเดือนเดือนสุดท้าย เช่น ข้าราชการรับราชการมาเป็นเวลา 30 ปี จึงเสียชีวิต และเงินเดือนสุดท้ายเท่ากับ 50,000 บาท ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดทั้งสิ้่น30 x 50,000 = 1,500,000 บาท 

หากผู้รับบำนาญเสียชีวิต ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด เท่ากับ 30 เท่าของเงินบำนาญ  เช่น ผู้รับบำนาญได้รับเงินบำนาญเดือนละ30,000 บาท ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดทั้งสิ้น 30 คูณ 30,000 = 900,000 บาท (ยอดนี้จะถูกหักเมื่อใช้สิทธิ์บำเหน็จดำรงชีพฯ)  

สิทธิ์ในการขอรับบำเหน็จตกทอด ทั้งกรณีข้าราชการเสียชีวิตระหว่างประจำการ หรือผู้รับบำนาญเสียชีวิต จะเป็นของทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายตามเกณฑ์ 

1) บุตร ให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน 

2) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน 

3) บิดา มารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน 

4) ในกรณีทายาท 1-3 ได้ตายไปเสียก่อน ให้แบ่งระหว่างทายาทผู้มีสิทธิที่เหลืออยู่ตามสัดส่วนสิทธิ์  

5) ในกรณีที่ไม่มีทายาท 1-3 ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ หากไม่ได้แสดงเจตนาให้ผู้ใด หรือแสดงเจตตาไว้แต่คนถูกระบุนั้นตายไปก่อน ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดนั้นเป็นอันยุติลง (คือตกเป็นของหลวงนั้นเอง) 

เงินช่วยพิเศษ 3 เท่า คืออะไร ? 

เงินช่วยพิเศษ คือ เงินที่รัฐจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์หรือทายาทเพื่อช่วยเหลือในการทำศพของข้าราชการหรือผู้รับบำนาญที่เสียชีวิต นั้นเอง 

กรณีข้าราชการที่เสียชีวิต  ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษจำนวน 3 เท่าของเงินเดือนเต็มเดือนที่ข้าราชการรายดังกล่าวมีสิทธิได้รับ หากข้าราชการรายดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษ เช่น เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการปราบปรามผู้กระทำผิด ก็ให้รวมเงินดังกล่าวกับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นเงินช่วยพิเศษ จำนวน 3 เท่า ด้วย  

กรณีกรณีผู้รับบำนาญที่เสียชีวิต ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษจำนวน 3 เท่าของบำนาญรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ด้วย  

การจ่ายเงินช่วยพิเศษ ทั้งกรณีข้าราชการและผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม ให้จ่ายแก่ผู้เสียชีวิตได้แสดงเจตนาเอาไว้ (เพียงรายเดียว สามารถเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับเงินช่วยพิเศษได้ตลอดเวลา โดยทำหนังสือแสดงเจตนา ระบุตัวผู้รับเงินช่วยพิเศษฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ส่วนราชการผู้เบิกฯ) ถ้าไม่ได้แสดงเจตนาไว้ให้จ่ายแก่ทายาทตามลำดับก่อนหลัง ได้แก่  1) คู่สมรส  2) บุตร 3) บิดามารดา (บุคคลในลำดับก่อนมีชีวิตอยู่บุคคลในลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษ หากผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือในลำดับเดียวกันมีหลายคน ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษให้แก่ผู้ซึ่งบุคคลในลำดับนั้นมอบหมายเป็นหนังสือ หรือบุคคลที่เป็นผู้จัดการงานศพ เช่น กรณีข้าราชการ หรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ และคู่สมรสเป็นผู้มีสิทธิในลำดับแรกได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ผู้ตายมีบุตร 3 คน ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษแก่บุตรคนหนึ่งคนใดที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากบุตรคนอื่น ๆ แต่หากไม่มีการมอบหมายเป็นหนังสือจากบุตรคนอื่น ๆ ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษให้แก่บุตรที่เป็นบุตรที่เป็นผู้จัดการศพ เป็นต้น) ทั้งนี้ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ข้าราชการหรือผู้รับบำนาญที่เสียชีวิต  

ในการยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงิน ทั้งกรณีบำเหน็จตกทอด และหรือเงินช่วยพิเศษ (3 เดือน) เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิ์ทั้งกรณีเป็นผู้ถูกระบุในการแสดงเจตนา หรือทายาทของผู้เสียชีวิต ต้องไปติดต่อที่ส่วนราชการผู้เบิกเงินเดือนหรือเงินบำนาญ นั้น ๆ  ( เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา)  โดยการเตรียมเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคลให้พร้อม ซึ่งควรไปสอบถาม หรือขอคำปรึกษา แนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยเบิกฯ ก่อนทำเรื่องฯ  

สรุปได้ว่า ข้าราชการและผู้รับบำนาญ นอกจากจะรับเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือเงินบำนาญแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นอีกหลายอย่าง ผู้รับบำนาญยังสามารถใช้สิทธิ์ในการขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพด้วย หากเสียชีวิตลงไปผู้ถูกระบุสิทธิ์หรือทายาทก็จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอด และเงินช่วยพิเศษ 3 เดือน ตามสิทธิ์ของเขาด้วย  ดังนั้นการเรียนรู้ การใช้สิทธิ์ การเตรียมการ และการบอกกล่าวกับทายาท หรือผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องที่ข้าราชการและผู้รับบำนาญจะละเลยเสียมิได้   

บวร เทศารินทร์

ข้อมูลอ้างอิง 

  • พรบ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติกองทุนบาเหน็จบานาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พรบ. กลับไปใช้บำเหน็จจำนาญตาม พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557)
  • พรฏ.การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นฯ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
  • กฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
  • กฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำนาญดำรงชีพ ฉบับที่ 1- ฉบับที่ 3
  • กฎกระทรวงกำหนดอัตรา และวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2562
  • แบบคำขอรับเงินช่วยพิเศษกรณีข้าราชการถึงแก่ความตาย
  • แบบหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับเงินช่วยพิเศษกรณีข้าราชการถึงแก่ความตาย

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: