สิทธิ์ในการรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวกรณีสมาชิก ช.พ.ส.

หากเราเป็นครู เมื่อไปติดต่อกับสำนักงาน สกสค. จังหวัด เพื่อขอสมัครเป็น”สมาชิกคุรุสภา”และขอสมัคร “สมาชิก ช.พ.ค.” ในคราวเดียวกัน ก็ถือว่าเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่น่ายินดี  

หากขอสมัครเป็น “สมาชิก ช.พ.ส.” ด้วย ก็ยิ่งเป็นเรื่องพิเศษน่าชื่นชมยิ่งนัก เจ้าหน้าที่ก็จะตอบว่า “ได้ค่ะ ยินดีค่ะ” ทั้ง ๆ ที่ในใจอาจสงสัยบ้างเพราะหน้าตายังเด็ก ๆ แต่งงานแล้วหรือ? พร้อมกับเสนอแนะว่า “เตรียมหลักฐานทั้งหมดให้พร้อม รวมทั้งทะเบียนสมรสฯด้วยนะคะ”  หากเราตอบด้วยความซื่อไปว่า “ยังไม่สมรสครับ ยังเป็นโสด” เพราะคิดว่าเป็น “ออฟชั่น” หนึ่งในสิทธิ์การเป็นข้าราชการครูฯ อย่างนี้เจ้าหน้าที่ก็จะหันมามองหน้าและตอบแบบอมยิ้มว่า “ช.พ.ส. ต้องคนที่แต่งงานแล้วนะคะ “ จากนั้นก็พูดว่า  “ แต่งงานแล้วค่อยมาใหม่นะคะ” ถ้าอย่างนี้สมัยนี้เขาเรียกว่า “เงิบ”

ช.พ.ส. คืออะไร ?

“ช.พ.ส.” จะเกี่ยวพันกับคู่สมรส เป็นเรื่องของคนไม่โสด แปลว่า คนโสดถอยไป แล้วไง ? 

“ช.พ.ส.” คือ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม เป็นเรื่องของสวัสดิการ ที่ดำเนินการตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเกิดขึ้นตาม มาตรา 72 (2) ของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพครู  

ข้อเขียนนี้ แม้ยังประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ที่มีคู่สมรสเป็นครูฯ แต่สำหรับคนโสดจะเป็นการประเทืองปัญญาและบอกต่อ วันนี้สาระอาจไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าข้อเขียนนี้อาจถูกค้นหาเพื่อเรียกกลับมาอ่านเพราะ “แต่งงานแล้วจ้า” 

ใครมีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ส. ได้?

อย่างที่กล่าว ช.พ.ส. เป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่สมรส สิทธิ์จะเกิดหากผู้นั้นมีคู่สมรสเป็นครู (รวมทั้ง ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาอื่น ต่อไปนี้ใช้คำว่า “ครูฯ”)  ดังตัวอย่าง

 “บุญหลาย” ทำอาชีพอื่น มีคู่สมรสเป็นครูฯ บุญหลายมีสิทธิ์สมัครเป็น “สมาชิก ช.พ.ส.” ได้

“บุญหลาย” เป็นครูฯ มีคู่สมรสเป็นครูฯ บุญหลายมีสิทธิ์สมัครเป็น “สมาชิก ช.พ.ส.” ได้ ในขณะที่บุญหลายสมัครเป็น “สมาชิก ชพ.ค.” ได้อยู่แล้ว (ข้อเขียนนี้ จะไม่กล่าวถึงกรณี ช.พ..ค. ท่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับสิทธิ์ใน ช.พ.ค.ได้ คลิก II

        “บุญหลาย” เป็นครูฯ มีคู่สมรสทำอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับครูฯ บุญหลายไม่มีสิทธิ์สมัครเป็น “สมาชิก ช.พ.ส.” แต่บุญหลายก็เป็น“สมาชิก ช.พ.ค.” ได้  

ในข้อเขียนนี้เราจะเล่าเรื่องของ “บุญหลาย” ในฐานะที่เขามีคู่สมรสเป็นครูฯ (ที่จดทะเบียนฯ) และเขาสมัครและใช้สิทธิ์การเป็น“สมาชิก ช.พ.ส.”   

บุคคลอื่นชำระเงินสงเคราะห์ในนาม สมาชิก ช.พ.ส. ได้ไหม ? 

“บุญหลาย” ไป (ความจริงอาจถูกคู่สมรสพาไป) สมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ส. ที่สำนักงาน สกสค. จังหวัด (ที่คู่สมรสทำงานที่หน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษา ณ จังหวัด นั้น ๆ) จะต้องชำระค่าสมัคร (ปัจจุบัน คนละ 50 บาท) และเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า (ปัจจุบัน คนละ 600 บาท) จากนั้นทุกเดือนจนกระทั่งลาออก ขาดสมาชิกภาพ หรือ เสียชีวิต เขาต้องชำระเงินสงเคราะห์รายศพทุกเดือน ๆ ปกติศพละ 1 บาท (เดือน มิถุนายน 2559 จำนวน 292 บาท) โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปจ่ายเป็นค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิก ช.พ.ส. ที่เสียชีวิต (เดือน พฤษภาคม 2559 ได้รับ 380,812 บาท)  

หาก“บุญหลาย”เป็นครูฯ การชำระเงินสงเคราะห์ฯ รายเดือนคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะโดยปกติหน่วยงานเขาจะหักเงิน ณ ที่จ่ายส่งไปให้ สกสค. จังหวัดอยู่แล้ว แต่กรณีที่บุญหลายไม่ได้เป็นครูฯ หรือทำงานที่จังหวัดอื่น บุญหลายต้องมีวิธีการชำระเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไปชำระด้วยตนเองทุกเดือน หรือ ฝากชำระเป็นรายปี หรือ ชำระผ่านธนาคารกรุงไทย  

แต่ในความเป็นจริง “สมาชิก ช.พ.ส.”  มักมีคู่สมรสเป็น “สมาชิก ช.พ.ค.” เพราะคนที่แนะนำและพาไปสมัครก็คือ คู่สมรสฯ นั้นเอง และ จะใช้วิธีการหักเงินคู่สมรส (หัก ณ ที่จ่ายของหน่วยงานฯ ของคู่สมรสฯ ซึ่งได้ทำเรื่องยินยอมไว้) เพื่อส่งเป็นเงินสงเคราะห์รายเดือนในนามสมาชิก ช.พ.ส. ชื่อ “บุญหลาย”  ซึ่งส่วนมากก็ใช้วิธีนี้ แต่หากเกิดกรณีคู่สมรสเสียชีวิต หรือ ถูกปลดออก ไล่ออก (ไม่มีเงินให้หัก) หรือ หย่า (ไม่ประสงค์หักเงินให้) ถึงแม้กฎหมายยังคงการเป็นสมาชิกภาพของบุญหลายอยู่ กรณีนี้ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระเงินค่าสงเคราะห์ศพรายเดือนว่าจะใช้วิธีการใด หรือ จะใช้วิธีการหักเงินจากบุคคลอื่นเพื่อชำระเป็นค่าสงเคราะห์แทน เช่น บุตร หรือ ญาติ (หัก ณ ที่จ่ายของหน่วยงานฯ ของบุตร หรือญาติ ซึ่งได้ทำเรื่องยินยอมไว้) ก็ได้ 

สิทธิ์ตามสวัสดิการนี้จะคงอยู่ตราบใดที่ยังเป็นสมาชิก บุญหลายจะถูกถอนชื่อจากการเป็นสมาชิก ช.พ.ส. หากขาดการชำระเงินสงเคราะห์ศพรายเดือน ติดต่อกันสามเดือนขึ้นไป (หากเป็นอะไรไปในช่วงนี้ บุคคลในครอบครัวจะเสียสิทธิ์ในเงินสงเคราะห์) อย่างไรก็ตามหากมาชำระภายหลัง สิทธิ์นั้นก็จะได้รับคืน แต่ต้องไปติดต่อขอชำระเงินทั้งหมดที่ค้าง และทำเรื่องคืนสิทธิ์ต่อสำนักงาน สกสค. จังหวัด นั่นหมายความว่า ต้องเข้าเงื่อนไขและเป็นไปตามกติกา ช.พ.ส. ด้วย 

หากหย่าร้างกับคู่สมรส สมาชิกภาพ ช.พ.ส. ยังคงอยู่ไหม?

โดยระเบียบแล้ว ตราบใดที่คู่สมรสฯ ของ“บุญหลาย”ยังเป็นครูฯ และชำระค่าสงเคราะห์รายเดือนอย่างต่อเนื่อง ตราบนั้นสมาชิกภาพเขายังคงอยู่ แต่หากมีการเปลี่ยนไปเพราะหย่าร้าง ย่อมขาดจากสมาชิกภาพ เพราะถือว่าไม่มีคู่สมรสเป็นครูฯ แล้ว แต่อย่าตกใจ กฎหมายฯให้ขอดำรงสิทธิฯ ได้ โดยไปยื่นคำขอฯ พร้อมหลักฐานต่อสำนักงาน สกสค.จังหวัด และต้องขอฯภายใน 60 วัน นับแต่ได้หย่า หากยื่นช้ากว่านี้ จะเป็นการชำระเงินเหมือนสมัครสมาชิกใหม่ทั้งกรณีจดทะเบียนคืนกับครูฯคนเดิม และไม่ได้กลับมาจดทะเบียนกับครูคนเดิม

กรณีหย่าร้าง มีผลกระทบต่อผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ (สิทธิ์อันดับแรกตอนสมัครคือคู่สมรสฯ เมื่อหย่าสิทธิ์นั้นย่อมตกไป) ต้องไปยื่นขอระบุหรือเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ครอบครัวใหม่ อาจเป็นคู่สมรสรายเดิม บุตร บิดามารดา คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้  หากไม่มีจึงระบุเป็นสิทธิ์เป็นผู้อุปการะอย่างบุตร หรือ ผู้อุปการะซึ่งเป็นบุคคลในลำดับถัดไป

ใครมีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ฯ กรณี สมาชิก  ช.พ.ส. เสียชีวิต ?

เมื่อ“บุญหลาย“ถึงแก่กรรม ครอบครัวของ“บุญหลาย”จะมีสิทธิ์ได้รับการสงเคราะห์ตามระเบียบ ช.พ.ส. โดย แยกเงินสงเคราะห์เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เงินสงเคราะห์จัดการศพ (ปัจจุบันจำนวนหนึ่งแสนบาท) และส่วนสอง เป็นเงินสงเคราะห์ครอบครัว เป็นจำนวนเงินตามที่เก็บได้จากเพื่อนสมาชิกที่มีชีวิตอยู่ โดยหักส่วนแรกออกไป (ปัจจุบันประมาณสองแสนแปดหมื่นบาทเศษ)ไม่ว่าเงินก้อนแรก หรือเงินก้อนสอง คนที่จะได้รับ ต้องเป็นบุคคลในครอบครัวของบุญหลาย โดยแบ่งบุคคลที่มีสิทธิ์ตามลำดับก่อนหลังบุคคลนอกเหนือจากนี้จะไม่มีสิทธิ์  ดังนี้

           1. ลำดับหนึ่ง คู่สมรสฯ  

           2. ลำดับสอง บุตรของ”บุญหลาย”และบุตรคู่สมรสฯ

           3. ลำดับสาม บิดามารดาของ”บุญหลาย”และบิดามารดาของคู่สมรสฯ

           4. ลำดับสี่ ผู้อยู่ในอุปการะอย่างบุตรของ”บุญหลาย”
           5. ลำดับห้า ผู้อุปการะเลี้ยงดู”บุญหลาย”   

หากผู้มีสิทธิรับเงินในแต่ละลำดับยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์  เช่น “บุญหลาย” มีคู่สมรสคู่สมรสเท่านั้นที่มีสิทธิ์รับเงินทั้งค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว ในกรณีคู่สมรสเสียชีวิติ สิทธิ์นี้ก็จะเป็นของทายาท ได้แก่ บุตรทุกคนของบุญหลาย เว้นแต่ว่าเขาไม่มีบุตร สิทธิ์นั้นถึงจะอันดับสาม สี่ หรือ ห้า ตามลำดับ  

หากเป็นกรณี”บุญหลาย”หย่ากับคู่สมรส และดำเนินการขอดำรงสมาชิกภาพ และขอกลับเข้าเป็นสมาชิก ช.พ.ส. ตามเดิม ได้ระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ครอบครัว ให้บุตรคนใดคนหนึ่ง  กรณีนี้ ช.พ.ส. จะจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัว ให้แก่ บุคคลที่ “บุญหลาย” ระบุให้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “บุญหลาย” คงไม่รักพี่เสียดายน้อง คงรักลูกเท่า ๆ กัน “บุญหลาย”จะไม่ระบุสิทธิ์ให้แก่ใครคนใดอย่างแน่นอน และเชื่อว่า ตอนทำเรื่องฯ สกสค. ท่านคงมีการแนะนำ และบอกเล่ากรณีศึกษาของการทะเลากันของลูก ๆ รายอื่นที่เคยทำคำขอเยี่ยงนี้มา  

กฎหมาย ช.พ.ค. เขียนไว้ว่าในกรณีที่ไม่มีบุคคลตามลำดับทั้งห้า และไม่มีการระบุผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ ให้นำเงินสงเคราะห์ครอบครัวตามระเบียบนี้ ไปบำรุงมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์หรือเพื่อเป็นทุนการศึกษาตามมติคณะกรรมการ ช.พ.ส. เชื่อว่ากว่าจะผ่านมาถึงด่านนี้ได้ น่าจะยาก 

มีตัวอย่างเป็นกรณีศึกษา ”ลูกสะใภ้” มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ ฯ หรือไม่? 

เรื่องมีอยู่ว่า “บุญตา” เป็นแม่บ้าน มีสามีเป็นครู ชื่อ “ครู” สามีพา “บุญตา” ไปสมัครสมาชิก ช.พ.ส โดยหักเงิน “ครู” ชำระเงินสงเคราะห์รายเดือนตลอดมา ต่อมา “ครู” ได้เสียชีวิติ “บุญตา” ไปทำเรื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงการชำระเงินสงเคราะห์ฯ โดยให้ลูกสะใภ้(ภรรยาของลูกชาย) เป็นผู้ชำระในนามของตนตลอดมา ซึ่งก็ได้รับการรู้เห็น และยินยอมจากลูก ๆ ของบุญตาทั้งสิบสองคน ในเวลาอีก 10 ปีต่อมา “บุญตา”  ได้เสียชีวิตลงไป  

คำถามจึงมีอยู่ว่า “ลูกสะใภ้บุญตามีสิทธิ์ในเงินสงเคราะห์ครอบครัว สมาชิก ช.พ.ส. หรือไม่” 

คำตอบ ในแง่กฎหมาย “ไม่มีสิทธิ์” เพราะสิทธิ์จะเกิดกับ “ลูกบุญตาทั้งสิบสองคน” ซึ่งเป็นอันดับสิทธิ์ที่สอง  

ในแง่ความเป็นจริงและเรื่องของคุณธรรม “ลูกสะใภ้” ควรได้รับ การจะไม่รับเป็นเรื่องของลูกสะใภ้ และการที่จะให้หรือให้เท่าไหร่เป็นเรื่องที่ลูก ๆ ของบุญตาทั้งสิบสองคนที่จะมีน้ำใจต่อลูกสะใภ้คนนี้ เพราะหากนับเป็นเงินสิบกว่าปีที่ก็ชำระเงินสงเคราะห์รายเดือนให้แทนลูก ๆ ก็มากโข  อย่างไรก็แล้วแต่ทุกคนเป็นญาติกัน ความรัก ความปรารถนาดี การเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและการปรองดองกัน เป็นสิ่งนำมาซึ่งความสงบสุข 

พบกันในข้อเขียนต่อไป สิทธิในการรับเงินบำเหน็จตกทอด” นะครับ

บวร เทศารินทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: