เวลาทวีคูณสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

“เวลาทวีคูณ” คำ ๆ นี้ จะถูกอ่านผ่านแม้จะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำในคราวอยู่ในสภาวการณ์ปกติ แต่หากเมื่อไรจะเกษียณอายุราชการ จะลาออก หรือ ขอรับประเมินแต่งตั้งฯ (จังหวัดชายแดนใต้) คำ ๆ นี้จะถูกใส่ใจและมีความสำคัญขึ้นมาทันที   

แต่ขอเกริ่นนำว่า ” เวลาทวีคูณ” มีสองลักษณะและใช้ต่างกัน ลักษณะที่หนึ่ง คือ เวลาทวีคูณตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญนำไปใช้ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญฯ  และอีกลักษณะหนึ่ง เวลาทวีคูณตามกฎหมายการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปใช้ในการประเมินแต่งตั้งฯ 

ก. เวลาทวีคูณประเภทแรกตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญเป็นอย่างไร?   

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก คำสามคำที่เป็นนิยามเพื่อตีกรอบให้ครอบคลุม “เวลาราชการ” ได้แก่  

“เวลาราชการปกติ” คือ ช่วงเวลาที่ปฏิบัติราชการปกติตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ปฏิบัติราชการ ซึ่งวันสุดท้ายอาจเนื่องจากเหตุเกษียณอายุราชการ หรือ ออกจากราชการด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น ลาออก ถูกปลดออก ให้ออก เป็นต้น   

“เวลาราชการทวีคูณ” คือ ช่วงเวลาที่ปฏิบัติราชการที่มีลักษณะเฉพาะ ให้นับเวลาราชการเป็น 2 เท่าของเวลาราชการปกติ ได้แก่ การปฏิบัติราชการอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศกฎอัยการศึก หรือ ปฏิบัติราชการที่มีการรบ สงคราม หรือมีการปราบปราบ การจลาจล หรือในระหว่างเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น โดยเรียกง่าย ๆ ว่า “วันทวีคูณ” มีเป็นระยะๆ ไม่บ่อยนัก แต่ก็มากสำหรับครูบางพื้นที่ฯ และมากโขสำหรับเหล่าทหาร ๆ ผู้กล้า  

แต่มีอีกเวลาราชการประเภทหนึ่งสำหรับข้าราชการส่วนหนึ่ง ซึ่งมักถูกละเลยประโยชน์ไป คือ “เวลาราชการราชการจากการเป็นทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร”  เอาง่าย ๆ เช่น ครูผู้ช่วยไม่ได้ทำเรื่องยกเว้นทหารไปจับใบแดงได้เป็นทหารเกณฑ์ กรณีนี้ต้องถูกสั่งให้ออกจากครูไปรับราชการทหาร เมื่อพ้นกำหนดก็กลับมารายงานและจะมีคำสั่งให้เข้าเป็นรับราชการเป็นครูตามเดิม เวลาที่ถูกพักจากการเป็นครูหรือ “เวลาที่ไปเป็นทหารเกณฑ์”  นี้แหละคือเวลาราชการประเภทนี้ 

 ดังนั้น“เวลาราชการ” จึงหมายถึง เวลาราชการปกติ เวลาราชการทวีคูณ และเวลาราชการราชการจากการเป็นทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารฯ กรณีเวลาทวีคูณ ขอเรียกว่า ทวีคูณบำเหน็จบำนาญ แล้วกัน    

เวลาทวีคูณบำเหน็จบำนาญมีช่วงเวลาใดบ้าง? 

หากพิจารณาตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เวลาทวีคูณ จะมี 2 ลักษณะ คือ 1) เวลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เช่น การปราบปรามคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติราชการลับ ปฏิบัติราชการสงครามเวียดนาม ปฏิบัติราชการพิเศษ ปฏิบัติราชการตามแผนป้องกันประเทศหรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 2) เวลาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้นับเวลาราชการเป็นทวีคูณ 

ในที่นี้จะขอยกมาเฉพาะเวลาทวีคูณกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกฯ โดยมีช่วงเวลา ดังนี้ 

1. วันที่ 7 ตุลาคม 2519 – 5 มกราคม 2520 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้ข้าราชการประจำทุกประเภท และลูกจ้างประจำ ได้วันทวีคูณเป็นเวลา 3 เดือน 

2. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 – 2 พฤษภาคม 2534 มีการประกาศใช้กฎอ้ยการศึกทั่วประเทศ ทำให้ข้าราชการประจำทุกประเภท และลูกจ้างประจำ ได้วันทวีคูณเป็นเวลา 2 เดือน 8 วัน 

3. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 – 1 เมษายน 2543 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ ข้าราชการประจำ และลูกจ้างประจำ ที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่นั้นๆ ได้วันทวีคูณเป็นเวลา 9 ปี 1 เดือน 7 วัน (ช่วง 23 ก.พ. 2534 – 12 พ.ย. 2541 มี 21 จังหวัด และ ช่วง 13 พ.ย. 2541 – 1 เม.ย. 2543 มี 20 จังหวัด  

ต่อมา เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉ.19) พ.ศ. 2543 และในมาตรา 7 กล่าวว่า สิทธิที่จะนับเวลาราชการเป็นทวีคูณของข้าราชการซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึกให้เป็นอันยุติลงนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้บังคับ (2 เมษายน 2543) เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะได้พิจารณาให้มีสิทธิ์นับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามมาตรา 24 ของ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2594 แปลว่า ต่อไปนี้ใครจะมีสิทธิได้รับการนับเวลาราชการทวีคูณในช่วงประกาศกฎอัยการศึกให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น (ไม่ได้โดยอัตโนมัติ) และเกิดช่วงเวลา ดังนี้  

4. วันที่ 5 มกราคม 2547 – 20  กรกฏาคม 2548 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการประจำ และลูกจ้างประจำที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่นั้นๆ ได้วันทวีคูณ(ช่วง  5 ม.ค. 2547 – 26 ม.ค.2547 มี 3 จังหวัด ช่วง 26 ม.ค.2547 – 30 ก.ย.2547 มี 4 จังหวัด และช่วง 26 ม.ค. 2547 – 20 ก.ค. 2548 มี 3 จังหวัด  

ต่อมาได้มีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึกบางพื้นที่(มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม2548) ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดว่า การนับเวลาราชการเป็นทวีคูณของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ใดจะต้องมีบัญชีรับรองเวลาราชการทวีคูณจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ (กระทรวงกลาโหม) เป็นผู้รับรองให้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติวันทวีคูณ  ซึ่งช่วงหลัง ๆ จะเกิดสิทธิ์เฉพาะข้าราชการทหาร   

5. วันที่ 19 กันยายน 2549 –26 มกราคม 2550) มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีอนุมัติ(ตามกระทรวงกลาโหมเสนอ) ให้เฉพาะข้าราชการทหารเท่านั้น ที่ได้วันทวีคูณ รวมเวลา 4 เดือน 8 วัน 

6. วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 – 1 เมษายน 2558 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีอนุมัติ(โดยกระทรวงกลาโหม) ให้เฉพาะข้าราชการทหารและทหารกองประจำการที่ได้วันทวีคูณ รวมเวลา 10 เดือน 13 วัน 

จะเห็นว่าข้าราชการครูที่มีช่วงเวลารับราชการตั้งแต่งบประมาณ 2520 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน จะมีวันทวีคูณทุกคน แต่จะมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากปฏิบัติงานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีวันทวีคูณมากสุด    

ครูได้ประโยชน์อะไรจากเวลาทวีคูณ? 

เวลาราชการ ทั้งกรณีเวลาราชการปกติ เวลาราชการทวีคูณ และหรือเวลาราชการการเป็นทหารกองประจำการ มีประโยชน์ต่อข้าราชการครูเป็นอย่างยิ่ง เพราะเวลาราชการดังกล่าวจะนำไปใช้เพื่อคำนวณเม็ดเงินบำเหน็จ บำนาญ เมื่อเกษียณอายุราชการหรือออกจากราชการ หรือนำไปใช้คำนวณเงินบำเหน็จตกทอดกรณีเสียชีวิตขณะที่ยังรับราชการอยู่    

เวลาทวีคูณนำไปคำนวณบำเหน็จ บำนาญ และบำเหน็จตกทอดอย่างไร? 

 ข้าราชการครูเมื่อออกจากราชการทั้งกรณีเกษียณอายุราชการ ถูกให้ออกหรือปลดออกให้มีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จ(เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายครั้งเดียว) หรือ บำนาญ(เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน) บำเหน็จตกทอด (เงินที่จ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการที่เสียชีวิตระหว่างประจำการ ซึ่งการเสียชีวิตนั้นมิได้เกิดจากการประพฤติชั่วร้ายแรงของตนเอง) ทั้งกรณีไม่เป็นสมาชิก กบข. และเป็นสมาชิก กบข.ดังนี้   

     1. กรณีไม่เป็นสมาชิก กบข. (ตาม พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ)   

        – บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ  

        – บำนาญ  = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ /  

                                         50 

        – บำเหน็จตกทอด = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ    

หมายเหตุ เวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็น 1 ปี เช่น 25 ปี 6 เดือน จะคิดเป็น 26 ปี  25 ปี 5 เดือน คิดเป็น 25 ปี (ไม่มีทศนิยม)   

        2. กรณีเป็นสมาชิก กบข. (ตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ)   

        – บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X เวลาราชการ   

        – บำนาญ  = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ  /

                                         50   

        – บำเหน็จตกทอด = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ    

หมายเหตุ 1. เงินบำนาญได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย   

            2. เวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วย  ในการนับเศษของปี ให้นับ 12 เดือนเป็น 1 ปี และ360 วันเป็น 1 ปี เช่น  25 ปี 6 เดือน คิดเป็น 25.5 ปี เวลาราชการที่จะนำไปคำนวณ คือ 25.5  

 ข. เวลาทวีคูณประเภทสองสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร? 

     กรณีข้าราชการครูฯ ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะพื้นที่อำเภอเทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ) จะมี”วันทวีคูณ”อีกรายการเพิ่มขึ้นมา เป็นเวลาอีกหนึ่งเท่าของการปฏิบัติงานประจำในพื้นที่ ฯ โดย ก.ค.ศ.ได้กำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้นับระยะเวลาที่ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลาทวีคูณสำหรับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.5/ว 6 ลงวันที่ 1 เมษายน 2552 โดยมีสาระสำคัญว่าเวลาทวีคูณดังกล่าวสามารถนำไปคำนวณเป็นระยะเวลาเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในทุกตำแหน่งและทุกสายงานได้ และเคยมีมติให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวเป็นทวีคูณ เพื่อประโยชน์ในการขอให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.3 ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ก.พ. ตามหนังสือที่ นร 1006/ว1 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2551 ที่ต้องการส่งเสริมความก้าวหน้า สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว แต่วันทวีคูณดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอืนนอกเหนือจากการแต่งตั้งได้ กรณีเวลาทวีคูณนี้ ขอเรียกว่า ทวีคูณบริหารบุคคลจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วกัน  

     กรณีที่เข้าใจว่า ครูผู้ช่วยได้รับการบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลา จริง แค่ 1 ปี (1 ปีปฏิบัติ +1 ปีทวีคูณ ถือว่าครบ 2 ปี)  เป็นครูในโรงเรียนนั้น 1 ปีก็ขอย้ายได้ (1 ปีปฏิบัติ +1 ปีทวีคูณ ถือว่าครบ 2 ปีหรือ 24 เดือน) หรือ พนักงานราชการ ครูอัตราจ้างฯที่ทำงานแค่ 1 ปี 6 เดือน (1 ปี 6 เดือน ปฏิบัติ +1 ปี 6 เดือน ทวีคูณ ถือว่าครบ 3 ปี) ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลด้านการแต่งตั้ง อย่างนี้จึงเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน  

      ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสิทธิ์ใน เวลาทวีคูณสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะพื้นที่อำเภอเทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ) มีสองประเภท คือ เวลาทวีคูณตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญ (เหมือนข้าราชการพื้นที่อื่นนำไปคำนวณบำเหน็จบำนาญฯ) กับเวลาทวีคูณบริหารบุคคลจังหวัดชายแดนภาคใต้(เฉพาะผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับไปคำนวณเพื่อนับเวลาในการประเมินแต่งตั้งฯ) ซึ่งสิทธิ์ทั้งสองเห็นประโยชน์แตกต่างกันชัดเจน    

 ค. เวลารับราชการทหารกองประจำการ นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร?  

ข้าราชการครูที่เคยเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ(หลังบรรจุเป็นข้าราชการครู)ที่จะได้รับสิทธิ์ในการนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ได้แก่  ทหารเกณฑ์นักเรียนทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้ลงทะเบียนทหารกองประจำการและเข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลดออกจากกองประจำการ ซึ่งทั้งสองกรณีต้องมีเวลาราชการ 1 ปีขึ้นไป (ไม่รวมผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร) สามารถนำเวลาช่วงดังกล่าวมารวมกับเวลาราชการเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญได้ รวมทั้งนำมาคำนวณเงินประเดิม (กรณีเป็นข้าราชการก่อน 27 มีนาคม 2540 และสมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข.)  

โดยผู้ประสงค์สามารถขอแบบบันทึกรับรองเวลาการเป็นทหารกองประจำการที่กรมการเงินกลาโหม กระทรวงกลาโหม ผ่านส่วนราชการสังกัด เมื่อได้รับอนุมัติส่วนราชการสังกัดผู้ขอ จะนำหลักฐานดังกล่าวมาบันทึกในทะเบียนประวัติ (ก.พ.) เพื่อเป็นหลักฐานนำมาใช้คำนวณบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณหรือลาออกต่อไป  

จะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูมีมากมาย ข้อเขียนนี้จึงมุ่งไปที่ บอกกล่าวให้รับรู้ถึงสิทธิ์วันทวีคูณ สร้างความเข้าใจ สามารถแยกแยะวันทวีคูณทั้งวันทวีคูณตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญ และวันทวีคูณบริหารบุคคลเฉพาะพื้นที่ฯ (สำหรับข้าราชการจังหวัดชายแดนใต้) อย่างไรก็แล้วแต่ในการปฏิบัติเพื่อใช้และรักษาประโยชน์ของวันทวีคูณดังกล่าว ไม่ว่าจะยื่นขอรับบำเหน็จ บำนาญ บำเหน็จตกทอด หรือ การเสนอขอรับการประเมินเลื่อนตำแหน่งระดับสูงขึ้น ก็จะมีแบบฟอร์มการกรอก การตรวจสอบ การร้องขอเอกสารหลักฐาน หรือ เสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ฯ ผู้รับผิดชอบทำเรื่อง หรือ ผู้มีอำนาจอีกชั้นหนึ่งอยู่แล้ว สิทธิ์เหล่านี้จะคงอยู่ ไม่ตกหล่นอย่างแน่นอน   

บวร เทศารินทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง 

  •  พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉ.19 ) พ.ศ. 2543 
  •  พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 
  • พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ 
  •  พื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก และมีการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ 
  •  นับระยะเวลาเป็นทวีคูณสำหรับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) 
  • หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว1 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2551
  • หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.5/ว 6 ลงวันที่ 1 เมษายน 2552
  • การนับระยะเวลาทวีคูณข้าราชการครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้

Published by borworn

ดร.บวร เทศารินทร์

Leave a Reply

%d bloggers like this: