“เงินบำนาญ” เป็นเงินที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการบำนาญหรือผู้รับบำนาญรายเดือนไปเรื่อย ๆ จนตาย และต้องรับราชการนานถึง 25 ปี จึงลาออกเพื่อรับบำนาญได้…นี่เป็นความคิด ท่านว่าทั้งสองประเด็นถูกไหม?
จำหากท่านได้อ่านในบทความก่อนหน้านั้น คงพอจะเข้าใจเบื้องต้นแล้วว่า บุคคลที่เป็นข้าราชการ หากต้องออกจากราชการด้วยเหตุต่าง ๆ ทางราชการจะให้สิทธิประโยชน์เป็นเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ซึ่งเรียกว่า “บำเหน็จบำนาญ” โดยให้สิทธิเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากรับเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเรียกว่า “บำเหน็จ” หากรับเป็นรายเดือน เรียกว่า “บำนาญ” ทั้งนี้ใครจะมีสิทธิ์ หรือไม่มีสิทธิ์ หรือมีสิทธิ์ประเภทไหน และได้จำนวนเท่าไหร่ นั่นย่อมเป็นไปตามกรณีที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 รวมถึงระเบียบหรือหลักเกณฑ์ย่อย ๆ ที่เกี่ยวข้อง
บำเหน็จบำนาญมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเป็นอย่างไร?
ระบบบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำแนกได้ 4 ประเภท ได้แก่ บำนาญพิเศษ บำเหน็จตกทอด บำเหน็จดำรงชีพ และบำเหน็จบำนาญปกติ ซึ่งแต่ประเภทมีลักษณะ ดังนี้
- “บำนาญพิเศษ”เป็นเงินที่รัฐจ่ายให้ข้าราชการ(กรณีมีชีวิต)หรือ ทายาท(กรณีตาย)เป็นรายเดือน ในกรณีที่ข้าราชการขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่นั้น ได้รับอันตรายจนพิการหรือเจ็บป่วยถึงทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต (เช่น ทหารทำศึกสงคราม ตำรวจจับผู้ร้ายฯ ครูเข้าห้ามปรามนักเรียนตีกัน) หรือ ข้าราชการถูกประทุษร้ายจนได้รับอันตรายจนพิการหรือเจ็บป่วยถึงทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ (เช่น ตำรวจผู้ทำคดีถูกผู้ร้ายยิงที่บ้านพักเหตุแค้นที่ไปจับญาติตนเข้าคุก ผู้อำนวยการโรงเรียนถูกครูตีหัวเพราะโกรธที่สั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ) ซึ่งการกระทำดังกล่าวของข้าราชการไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ ไม่ได้เกิดจากความผิดของตนเอง และการที่จะเข้าข่ายเป็นพิการหรือเจ็บป่วยถึงทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปได้นั้น ต้องได้รับคำยืนยัน(รับรอง)จากแพทย์ เมื่อข้าราชการดังกล่าวยังไม่เสียชีวิตเจ้าตัวจะได้รับเงินบำนาญพิเศษ เรียกว่า “บำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ “ หากเป็นผู้มีสิทธิ์รับบำนาญปกติก็จะได้เงินอีกก้อน คือ “บำนาญปกติ” ด้วย แต่หากเสียชีวิตทายาทจะได้รับเงินบำนาญพิเศษเรียกว่า “บำนาญพิเศษกรณีข้าราชการถึงแก่ความตาย(จ่ายทายาท)” และทายาทยังได้รับ “บำเหน็จตกทอด” อีกด้วย
ส่วนการจะได้เงิน ”บำนาญพิเศษ” จำนวนเท่าไรนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ(ข้าราชการครู หรือข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไปส่วนมากจะอยู่ในข่ายกรณีทำหน้าที่ในยามปกติ หากพิการทุพพลภาพจะได้รับตั้งแต่ 5/50 – 20/50 ส่วน ของเงินเดือน ๆ สุดท้าย ซึ่งส่วนราชการจะเป็นผู้กำหนดตามสมควรแก่เหตุประกอบความพิการและทุพพลภาพ (ตามผลการสอบสวน) หากผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพจะใช้สิทธิ์ขอเปลี่ยนเป็นรับ “บำเหน็จพิเศษ” ก้อนเดียวแทน (จำนวนหกสิบเท่าของบำนาญพิเศษ) ก็สามารถทำได้
หากถึงแก่กรรมทายาทเป็นผู้รับบำนาญพิเศษจะได้รับ 1/2 ของเงินเดือน ๆ สุดท้ายของผู้ตาย โดยแบ่งตามหลักเกณฑ์ คือ บุตรให้ได้รับ 2 ส่วน (ถ้ามี 3 คนขึ้นไปรับ 3 ส่วน) โดยรับไปจนถึง 20 ปีบริบูรณ์ หรือ กำลังศึกษารับถึง 25 ปีบริบูรณ์ คู่สมรส รับ 1 ส่วน ได้รับจนตลอดชีวิต เว้นแต่ สมรสใหม่ บิดาและมารดา 1 ส่วน ได้รับจนตลอดชีวิต หากกรณีไม่มีทายาทเลย ให้จ่ายผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะตามส่วนที่เจ้ากระทรวงกำหนดและหากผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ มีอายุไม่ถึงยี่สิบปีบริบูรณ์ให้ได้รับอย่างบุตร ตรงนี้เป็นรายละเอียดหากมีกรณีเช่นนี้ ให้ติดตามสอบถามที่ส่วนราชการผู้เบิกเงินเดือนของข้าราชการนั้น ๆ
- “บำเหน็จตกทอด”เป็นเงินที่รัฐจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ทายาทผู้มีสิทธิ์ กรณีที่ข้าราชการถึงแก่กรรมระหว่างรับราชการอยู่ หรือผู้ รับบำนาญถึงแก่กรรม โดยทายาทจะได้รับ30 เท่าของเงินเดือนหรือบำนาญรายเดือน
- ”บำเหน็จดำรงชีพ” เป็นเงินที่รัฐจ่ายเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ผู้รับบำนาญ จำนวน15 เท่าของบำนาญรายเดือนแต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยแบ่งรับเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนอายุ 65 ปี ขอรับได้ไม่เกิน 200,000 บาท และ หลังอายุ 65 ปี ขอรับส่วนที่เหลือได้อีก แต่เมื่อรวมสองครั้งจะได้ไม่เกิน 400,000 บาท เงินจำนวนนี้แบ่งจากบำเหน็จตกทอด หากผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม ทายาทผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดไม่เต็มจำนวนเพราะต้องหักยอดเงินบำเหน็จดำรงชีพนี้ออก
สำหรับรายละเอียดของเงิน “บำเหน็จตกทอด” และ “บำเหน็จดำรงชีพ” ได้กล่าวไว้แล้วในข้อเขียน “สิทธิ์ในเงินบำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด และเงินช่วยพิเศษ 3 เดือน” ท่านสามารถ คลิกอ่าน ได้
- “บำเหน็จบำนาญปกติ”เป็นเงินที่รัฐจ่ายตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา หากรับเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเรียกว่า ”บำเหน็จ” และหากเลือกที่จะรับเป็นรายเดือนจนกว่าจะถึงแก่กรรม หรือจนหมดสิทธิ เรียกว่า ”บำนาญ “ ผู้จะได้รับบำเหน็จบำนาญปกติ มี 4 เหตุ ดังนี้
1) เหตุทดแทน ผู้มีสิทธิ์เป็นข้าราชการซึ่งออกจากประจำการเพราะเหตุราชการเลิก หรือยุบตำแหน่ง หรือมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือ ออกตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ ทหารซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด
2) เหตุทุพพลภาพ ผู้มีสิทธิ์เป็นข้าราชการซึ่งออกจากราชการเพราะเจ็บป่วยทุพพลภาพซึ่งแพทย์ได้ตรวจและรับรองว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปได้ (คนละอย่างกับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ)
3) เหตุสูงอายุ ผู้มีสิทธิ์เป็นข้าราชการที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีอายุครบห้าสิบปี บริบูรณ์แล้วประสงค์จะลาออกจากราชการ
4) เหตุรับราชการนาน ผู้มีสิทธิ์เป็นข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการครบสามสิบปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ที่มีเวลาราชการครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้วประสงค์จะลาออกจากราชการ
สำหรับข้าราชการครูและข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไป จะเป็นผู้รับบำเหน็จบำนาญปกติ เหตุสูงอายุและเหตุรับราชการนานเป็นส่วนมาก
ตารางแสดง ความสัมพันธ์อายุตัว อายุราชการ และเหตุที่ออกตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (เศษของครึ่งปีนับเป็น1 ปี เช่น 24 ปี 6 เดือน คือ 25 ปี)
ใครมีสิทธิ์รับบำเหน็จบำนาญปกติบ้าง ?
ผู้มีสิทธิ์รับบำเหน็จบำนาญปกติจำแนกตามคุณลักษณะได้ดังนี้
- สิทธิที่จะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นผู้ที่
1.1) มีเวลาราชการไม่ถึง 10 ปีบริบูรณ์ แต่ต้องเป็นกรณีทางราชการสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ ครบเกษียณอายุ หรือ ขอลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ หรือ
1.2) ลาออกจากราชการโดยมีเวลาราชการครบ 10 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 25 ปีบริบูรณ์ หรือ
1.3) เป็นผู้มีสิทธิได้รับ”บำนาญ” แต่ขอรับ”บำเหน็จ” แทน - สิทธิที่จะได้รับ “บำนาญ” เป็นผู้ที่
2.1) มีเวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ต้องเป็นกรณีทางราชการสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด สั่งให้ออกเพราะครบเกษียณอายุ สั่งให้ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ สั่งให้ออกเมื่อมีเวลาราชการครบ 30 ปีบริบูรณ์ หรือ ลาออกจากราชการเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ หรือ
2.2) ลาออกจากราชการเมื่อมีเวลาราชการครบ 25 ปีบริบูรณ์
ตารางแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติ เหตุที่ออก และสิทธิ์ในการเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญทั้งไม่เป็นและเป็นสมาชิก กบข.(หากไม่เป็นสมาชิก กบข.การนับปีให้ไปดูตารางข้างบน)
มีสิทธิ์รับบำเหน็จบำนาญปกติจำนวนเท่าใด?
- กรณีไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ ไม่เป็นสมาชิก กบข. (รับตาม พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ หรือ กลับมารับตาม พรบ. UNDO)ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญตามสูตรคำนวณดังนี้
– บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
– บำนาญ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
50
โดยเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็น 1 ปี เช่น 25 ปี 6 เดือน จะคิดเป็น 26 ปี 25 ปี 5 เดือน คิดเป็น 25 ปี (ไม่มีทศนิยม) คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร
- 2. กรณีเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เป็นสมาชิก กบข.ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญตามสูตรคำนวณดังนี้
– บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X เวลาราชการ
– บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
50
มีเงื่อนไขคือเงินบำนาญได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และเวลาราชการรวมเวลาทวีคูณด้วย โดยให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วยในการนับเศษของปี ให้นับ 12 เดือนเป็น 1 ปี และ360 วันเป็น 1 ปี เช่น 25 ปี 6 เดือน คิดเป็น 25.5 ปี เวลาราชการที่จะนำไปคำนวณ คือ 25.5 คลิกอ่านข้อเขียนเวลาทวีคูณประโยชน์ต่อข้าราชการครูแค่ไหนอย่างไร
ตารางสรุป แสดงสิทธิ์ในการรับบำเหน็จบำนาญ เมื่ออกจากราชการในกรณีต่าง ๆ(เปรียบเทียบการเป็นสมาชิก กบข.และไม่เป็นสมาชิก กบข.)
โดยสรุปแล้ว “บำเหน็จบำนาญ” เป็นสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่ทางราชการจัดให้สำหรับข้าราชการหรือทายาทของข้าราชการนั้น หากว่า “บำเหน็จ” จะสื่อถึงการรับเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียวจบเลย ส่วน “บำนาญ” นั้นจะได้รับเป็นรายเดือนไปกว่าจะตายจากกันไป ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการไทยไม่ว่าจะเป็นบำนาญพิเศษ บำเหน็จตกทอด บำเหน็จดำรงชีพ หรือบำเหน็จบำนาญปกติ ได้ระบุถึงเงื่อนไข เวลา สิทธิ์ของใคร ประเภทไหน รับเท่าไร ไว้อย่างชัดเจนตามข้อกฎหมาย การจะได้รับบำนาญหากเป็นกรณีปกติและขอลาออกต้องมีเวลาราชการครบ 25 ปีถึงจะเกิดสิทธิ์ แต่หากเป็นกรณีเหตุอื่นมีเวลาราชการไม่ถึง 25 ปี ก็สามารถรับเงินบำนาญได้จนกว่าจะตาย
บวร เทศารินทร์
ข้อมูลอ้างอิง